ข่าว

ถลกหนังหัวศาลไทย


ถลกหนังหัวศาลไทยรับใช้เผด็จการ

เสนอทางออกให้ศาลมาจากการเลือกตั้งแบบอเมริกาและให้นำระบบลูกขุนมาใช้ใช้ในกระบวนการยุติธรรม

                                                                                                               กนกวรรณ กรรณแก้ว รายงาน

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2561 ที่ห้องประชุมประกอบหุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มใต้เตียง มธ. และกลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “ประชาชน ศาล ทหาร รัฏฐาธิปัตย์” มีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน ร่วมกันวิจารณ์ศาลไทยกรณียกฟ้อง คสช.ในความผิดฐานกบฏ และยกฟ้องคดีรัฐบาลอภิสิทธิสังหารหมู่คนเสื้อแดงเมื่อปี 2355

นายอานนท์ นำภา ทนายความกล่าวว่าศาลฎีกายกฟ้องคณะรัฐประหาร คสช.ในฐานกบฎ แต่ก็มีคำตัดสินที่น่าสนใจว่า หลังจากมีการยึดอำนาจ ในเมื่อประเทศไม่มีคนใช้อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงมีสิทธิที่จะใช้อำนาจทั้ง 2 ส่วน และแม้สิ่งที่คณะรัฐประหารทำจะเป็นเรื่องผิดแต่ก็มีการนิรโทษกรรมในมาตรา 49 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 หวังว่าในอนาคตคำพิพากษาเหล่านี้จะถูกนำมาปรับแนวพิพากษาใหม่ ขณะที่ประชาชนเองจะต้องสู้กับกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมกันให้ถึงที่สุด

นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า ที่เกาหลีใต้ มีการรัฐประหารและมีคนตายจำนวนมาก มีการนำคดีไปฟ้องต่อศาล อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ประชาชนได้รวมตัวกันยกร่างกฎหมายเอาผิดคณะรัฐประหารและยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้คนที่ทำรัฐประหารในครั้งนั้นติดคุกตลอดชีวิต และทำให้หลังจากนั้นไม่มีการรัฐประหารในประเทศเกาหลีใต้อีกเลย ส่วนการรัฐประหาร ในประเทศตรุกี ก็มีลักษณะเดียวกัน มีการยื่นฟ้องคนที่ทำรัฐประหาร มีความผิดเป็นโจรกบถ สุดท้ายศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตและถอดยศทหารคนที่ทำการรัฐประหาร แต่ในประเทศไทยการรัฐประหารทุกครั้งทหารจะไม่ยุ่งกับศาลเลย เพราะศาลรองรับการรัฐประหารมานานแล้ว ส่วนการยกฟ้องรัฐบาลอภิสิทธิ์กรณีสังหารหมู่คนเสื้อแดงปี 2553นั้น หวังว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหากชนะการเลือกตั้ง สามารถใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC) เขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศในประเด็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ศาลนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือรัฐหนึ่ง ๆ เสนอคดีมาให้พิจารณา

นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารสำเร็จ13 ครั้ง เป็นวงจรอุบาทว์การเมืองไทย หากใครทำรัฐประหารถูกลงโทษข้อหากบฏ ก็เชื่อว่าไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร แต่คนพวกนี้ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเอง ซึ่งหากไม่มีศาลใดรองรับก็คงไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร ดังนั้นกลไกที่จะหยุดวงจรอุบาทว์นี้ก็คือศาล แม้ศาลฎีกาเคยพิพากษารองรับคำว่ารัฏฐาธิปัตย์ครั้งแรกเมื่อปี 2496 แต่ในคำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่ได้บอกว่าคณะรัฐประหารจะมีอำนาจออกกฎหมายอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แค่ยอมรับว่ามีอำนาจออกกฎหมาย เพราะคำว่ารัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้หมายความว่าสามารถสั่งอะไรได้ทั้งหมดหากศาลจะเปลี่ยนแนวพิพากษา ประธานศาลฏีกาก็อาจจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อหารือแล้วลงมติ หากที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าคณะรัฐประหารไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ แต่เป็นกบฏ ศาลก็อาจจะเปลี่ยนแนวคำพิพากษาได้ ทั้งนี้จะต้องสื่อสารให้ผู้พิพากษาในศาลฎีกาได้ฉุกคิด ถึงแนวคิดใหม่ๆเหล่านี้ ผ่านเวทีเสวนา การเขียนบทความในสื่อ รวมไปถึงการจัดประชุมทางกฎหมาย ก็จะช่วยทำให้แนวความคิดเหล่านี้กระจายเข้าไปในเหล่าผู้พิพากษา และจะสามารถเปลี่ยนแนวพิพากษาได้ ส่วนกรณียกฟ้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ฆาตกรรมหมู่คนเสื้อแดงปี 2553 นั้นเห็นด้วยที่รัฐบาลต่อไปจะได้ดำเนินการใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้ตอนนี้ กรณียังทำอะไรไม่ได้ แต่คดียังไม่หมดอายุความ ในอนาคตยังสามารถใช้สิทธิรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ปัญหาของศาลก็คือตุลาการภิวัติ โดยการใช้อำนาจโค่นล้มรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และเติบโต แสดงบทบาทอย่างขยันขันแข็ง จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี2549 อำนาจของฝ่ายตุลาการมีเหนือกว่าฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ    ตุลาการภิวัฒน์ได้ทำลายประชาธิปไตยนำไปสู่การสถาปนาระบอบเผด็จการทหาร หลังรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเห็นได้ว่าฝ่ายตุลาการเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆด้วย จนทำให้หลักตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการเสียหายไป ทั้งนี้ทางออกในเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาตั้งแต่ที่มาตุลาการ ควรมาจากการเลือกตั้งโดยฝ่ายบริหารเสนอให้สภารับรอง นอกจากนั้นกระบวนการพิจารณาคดีควรมีการนำระบบลูกขุนเข้ามาใช้ เพื่อคานอำนาจตุลาการและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนการป้องกันการรัฐประหารนั้นหลังการเลือกตั้งรัฐสภาอาจเสนอกฎหมายยกเลิกผลพวงการรัฐประหารและลดทอนงบประมาณกองทัพในเรื่องการซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ และ แก้ไขเรื่อง สภากลาโหมที่ให้อำนาจผู้บัญชาการเหล่าทัพจัดทำบัญชีโยกย้ายตำแหน่งในกองทัพ สร้างระบบเส้นสายคุมกำลังนำไปใช้ก่อการรัฐประหารได้ โดยที่รัฐบาลเองไม่มีอำนาจในส่วนนี้ รวมทั้งต้องลดขนาดกองทัพให้เล็กลง.

news_iiBOoBeaAk163053_533