กระบวนการยุติธรรม ข่าว

แถลงการณ์ “ปกป้องประชาธิปไตยแก้ไขกระบวนการยุติธรรม”


แถลงการณ์ 24ปกป้องประชาธิปไตย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ไต่สวนคดีสังหารโหดคนเสื้อแดงและคดีฟ้องคณะรัฐประหารเป็นกบถ

  ยุติการดำเนินคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

             เป็นความเชื่อมาช้านานแล้วว่า ศาลเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้สังคมสงบสุข เสมอภาค  และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ความเชื่อดังกล่าวเริ่มเสื่อมลงจนดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรม ถูกสั่นคลอนด้วยคำว่า “2 มาตรฐาน” และคำว่า “ยุติธง”  ที่พิสูจน์เป็นจริง เมื่ออำนาจตุลาการ ทำหน้าที่ กล่าวคือ

              หนึ่งรับใช้ระบอบเผด็จการทหาร ด้วยการพิพากษารับรองการรัฐประหารเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ในขณะเดียวกันได้ทำหน้าที่ทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการพิพากษา เช่น การตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน   และพิพากษาถอดถอนนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ทำให้เกิดทางตันการเมือง เปิดทางให้ทหารก่อการรัฐประหาร สถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเต็มที่ ดังตัวอย่างเช่น ใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ   ใช้ศาลยุติธรรมเป็นเครื่องมือจับกุมคุมขังประชาชนจำนวนมาก ดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง ยกฟ้องรัฐบาลอภิสิทธิ์คดีสังหารโหดคนเสื้อแดงตาย 100ศพ

             สอง ศาลได้รับรองคณะรัฐประหาร   แปรสภาพกฎโจรให้กลายเป็นกฎหมายในการกดขี่ประชาชน    บทบาทของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวนี้มีเป้าหมาย  เพื่อการรักษาอำนาจและการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนสืบไป

            สามสถาบันตุลาการ ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  เป็นอำนาจแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ด้วยการเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้หลักอธิปไตยขาดการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกัน  ผู้พิพากษาจึงเป็นอภิสิทธิชนในระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีส่วนต่อการทำลายประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดมา

คำวินิจฉัยและคำพิพากษาในคดีทางการเมืองหลายคดีด้วยกันมักมีที่มาซึ่งเชื่อมโยงกับการแย่งชิงอำนาจรัฐที่ปราศจากความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น เนื้อหาของคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเหล่านั้นมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้าย หรือแม้แต่การขยายความบทบัญญัติที่มีโทษอาญาออกไปจนกระทั่งมีลักษณะเป็นการเทียบเคียงบทกฎหมายเพื่อลงโทษบุคคล

การไม่ให้สิทธิประกันตัวหรือการปล่อยตัวชั่วคราวในการต่อสู้คดีอย่างเที่ยงธรรมในคดีความผิดตามมาตรา112  จนผู้ถูกกล่าวหาบางรายปฏิเสธและไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีของศาล การตีความและตัดสินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ถึงความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นไปด้วยอัตราโทษที่สูงเกินสมควรแก่เหตุ การตัดสินคดียืดเยื้อยาวนาน จนผู้ถูกกล่าวหาเลือกที่จะให้การรับสารภาพแทนการต่อสู้คดีถึงที่สุด เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน  ทำให้จำนวนนักโทษการเมืองในคดีตามาตรา 112 เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว  นำความเสื่อมเสียต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก จนในที่สุดได้เกิดแนวปฏิบัติใหม่ที่จะยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา112  ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของนายทอม ดันดี และนายประเวศน์  ประชานุกูล  เป็นต้น

            กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้ หนึ่ง ให้ผู้พิพากษา ทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการยกฟ้องคดีที่ฟ้องร้องเอาผิดประชาชนที่ใช้สิทธิการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ  ผู้พิพากษาและตุลาการทุกคนจะต้องใช้และตีความกฎหมายโดยยึดถือเอาอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง  ปฏิเสธที่จะตัดสินคดีเป็นไปตามความต้องการหรือใช้คำสั่งของคณะรัฐประหารมาตัดสินคดีรวมทั้งเปิดให้มีการไต่สวนคดีสังหารคนเสื้อแดงเม่ือปี 2553 และไต่สวนความผิดคณะรัฐประหารตามกฎหมายเพื่อไม่ไห้กลายเป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป  สอง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  ให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและเคารพต่อหลักนิติรัฐ ที่มาของผู้พิพากษาต้องเชื่อมโยงกับประชาชน เหมือนในอเมริกาและยุโรป สร้าง ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของศาล ด้วยการนำคณะลูกขุนมาใช้ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม  การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้พิพากษา การปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตุลาการให้เปิดกว้างจากทุกส่วนแทนการแต่งตั้งหรือคัดเลือกกันเอง การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความลำเอียงหรือสองมาตรฐาน การรับผิดต่อการใช้อำนาจของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการ

กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย

7 กรกฎาคม2561  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

news_PqEyxOCzev163134_533