บทความ

ทหารกับภาระแบกหามบนบ่าประชาชน


         ทหารกับภาระแบกหามบนบ่าประชาชน
ถึงเวลาปฏิรูปกองทัพไทย: ลดนายพล-เลิกเกณฑ์ทหาร

                                                        สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ทหารเกิน

การใช้พลทหารเกณฑ์ไปเป็นขี้ข้ารับใช้เป็นการส่วนตัวให้นายพลทั้งในและนอกราชการ หรือการใช้ความรุนแรงต่อพลทหารตามอำเภอใจเป็นประเพณีสืบทอดกันมาช้านานตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า  917  ปีด้วยกัน  รูปแบบดั้งเดิมในยามปกติเป็นการเกณฑ์ประชาชนราษฎรไปเป็นไพร่-ทาสเพื่อทำงานแบบถูกบีบบังคับให้กับกษัตริย์-ขุนนาง  ในยามมีศึกการป้องกันหรือการรุกรานก็จะถูกถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารออกรบทำสงคราม  บรรดาไพร่พลเหล่านี้ต้องยอมรับสภาพชีวิตที่ถูกกดขี่อย่างทารุณโหดร้าย แม้จะยกเลิกระบบทาสสมัยรัชกาล 5 ไปแล้วแต่ระบบทหารและการเกณฑ์ทหารแบบไพร่ฟ้าหน้าใสยังคงสืบทอดกันมาเป็นอย่างดีเพียงแต่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความเป็นทาสออกไปภายใต้   ข้ออ้าง ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด เป็นการทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติอย่างสมเกียรติ ดังนั้นแม้แต่การใช้พลทหารเลี้ยงไก่หรือซักกางเกงในให้นายพลเป็นการส่วนตัวก็ถือเป็นเกียรติยศของการรับใช้ประเทศชาติได้เช่นกัน

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประเทศไทย ก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์   ทุกประเทศเข้าสู่การแข่งขันการค้าและการพัฒนายุคใหม่ มุ่งสร้างความสงบสันติสุขระหว่างประเทศ จนไม่มีภาวะสงครามเกิดขึ้นอีกต่อไป  แต่ละประเทศจึงลดงบประมาณกองทัพลง  ลดขนาดกองทัพให้เล็กลง ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ประเทศเหล่านี้จึงเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

แต่กะลาแลนด์อย่างประเทศไทยกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม เมื่อไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศและไม่มีภาวะสงครามในภูมิภาคในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาและอีกหลายทศวรรษต่อไป  กองทัพไทยจึงต้องสร้างมายาคติในเรื่องความมั่นคงและภัยคุกคามจากคนภายในประเทศ เริ่มต้นจากชาวนาในชนบทที่ต้องกลายคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ไม่มีกองกำลังติดอาวุธอีกต่อไป กองทัพจึงต้องหันมาสร้างมายาคติเกี่ยวกับภัยคุกคามจากนักการเมือง และกลุ่มประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย “ ผีทักษิณ “ จึงถูกปั้นแต่งขึ้นมาให้เป็นภัยต่อความมั่นคงภายในชาติ มายาคติเช่นนี้กองทัพร่วมกับรัฐราชการและชนชั้นสูงรวมกันเป็นผู้สร้างขึ้นมาเพื่อยึดกุมอำนาจรัฐในระบอบอำมาตยาธิปไตย  “ความมั่นคงของชาติ” ในมิติของกองทัพ โดยเนื้อแท้แล้วหมายถึงความมั่นคงของพวกพ้องอภิสิทธิชนในระบอบอำมาตยาธิปไตย มากกว่าความมั่นคงของชาติและประชาชนในรัฐประชาชาติสมัยใหม่

ในระยะ12 ปี งบประมาณกระทรวงกลาโหมจากปี2548 จำนวน   8 หมื่นล้านบาท หลังรัฐประหาร19 กันยายน49และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม2557พุ่งสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท ในปี 2561 คิดเป็น 7.7% ของงบประมาณทั้งหมด  นอกจากนี้ยังมี การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มมากขึ้นมหาศาล รวมทั้ง จำนวน การเกณฑ์ทหารยังเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากอีกด้วยในปี 2556 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 94,480 คนมาในเป็น 2561   เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน  104,734 คน  หรือเพิ่มขึ้นถึง 10,254 คน ในขณะเดียวกัน ตำแหน่งนายพลยังเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนล้นเกินความจำเป็น

ย้อนดูจำนวนนายทหารชั้นนายพลปี 2518 ที่กองทัพบกมี “พลเอก” แค่ 5 คน  ปี 2553 มีตำแหน่งนายพลจำนวน  530 คน ปี 2555  ขึ้นเป็น 811 คน และพรวดขึ้นถึงหลักพันหลังรัฐประหาร ในปี 2557 จำนวน 1,092 คน   วันนี้กองทัพไทยมี “นายพลประจำการ” ประมาณ 1,400 นายในจำนวนนี้มี “นายพลตำแหน่งลอย” เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ นายทหารปฏิบัติการ นายทหารปฏิบัติการพิเศษ นายทหารชำนาญการ ฯลฯ ถึง 786 นาย

กานดา นาคน้อย นักวิชาการได้นำเสนอข้อมูลว่า เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ มีจำนวนนายพลเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนนายพลไทย สหรัฐฯ มีกำลังพลประมาณ 3 เท่าของกำลังพลของกองทัพไทย เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนประชากรแล้ว สหรัฐฯ มีประชากรประมาณ 5 เท่าของไทย ดังนั้นสัดส่วนกำลังพลของกองทัพไทยต่อประชากรจึงสูงกว่าสัดส่วนกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯเสียอีก

การที่กองทัพไทยมีกำลังทหารประจำการ 3 แสนนาย แต่มีนายพลถึง 1,400 คนเฉลี่ยสัดส่วนเท่ากับนายพล 1 คนต่อกำลังพล 214 คน  วันนี้กองทัพไทยมีนายพลมากที่สุดในเอเชีย เมื่อนายพลเยอะ งบประมาณที่ใช้ก็สูงตาม เพราะงบกองทัพในภาพรวมประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเงินเดือนของข้าราชการทหารอยู่แล้ว เหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้สำหรับทำงานจริงๆ

ขณะที่นายพล 1 คน นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังมีสิทธิพิเศษเรื่องบ้านพัก ทหารติดตาม ทหารรับใช้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิขอไปทัศนศึกษาต่างประเทศ ฉะนั้นนายพลยิ่งเยอะ งบประมาณที่ใช้ยิ่งแยะตามไปด้วย(ไทยรัฐ   3 ส.ค. 2559 )

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สภาพปัญหาความมั่นคงของชาติได้เปลี่ยนไปมากแล้ว    แต่กองทัพไทยยังล้าหลัง นอกจากจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแล้ว นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง24มิถุนายน 2475 เป็นต้นมายังทำหน้าที่เป็นกองกำลังอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ด้วยการก่อการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยถึง20ครั้ง (สำเร็จ12ครั้ง) ทำเศรษฐกิจตกต่ำ นำความทุกข์ยากเดือดร้อนมาสู่ประชาชน

ประชาชนผู้เสียภาษีอากร เป็นผู้แบกภาระงบประมาณแผ่นดิน ที่ต้องนำไปปรนเปรอกองทัพ  หล่อเลี้ยงเหล่านายพลล้นเกินกันสุขสบาย อีกจำนวนมากยังได้รับการแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ   ในสภานิติบัญญัติ  กินเงินเดือนสองตำแหน่งกันเปรมปรีดิ์ถ้วนหน้า รวมทั้งผลประโยชน์ จากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนนับแสนล้านบาท  แต่ สำหรับทหารระดับล่าง  ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า ก็ต้องไปหากินนอกเวลาราชการ  เช่น ไป ทำงานรับจ้างทวงหนี้ ฯลฯ  เป็นต้น 

ในขณะที่ฐานเงินเดือนข้าราชการระดับล่างทั่วไปในส่วนอื่นๆ  เช่น ครูและพยาบาล ไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  มีหนี้สินดินพอกหางหมู  จำนวนกว่าครึ่งเป็นพนักงานอัตราจ้างหรือเป็นพนักงานชั่วคราวแต่ทำงานมานานหลายปี กลับไม่ได้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการประจำ มีชีวิตที่ปากกัดตีนถีบเป็นอย่างยิ่ง

การปฏิรูปกองทัพจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนกล่าวคือ หนึ่ง ลดจำนวนนายพลส่วนเกินอีกอย่างน้อยอีก 50 เปอร์เซ็นต์ สอง หยุดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง สาม เลิกการเกณฑ์ทหาร พัฒนาทหารอาชีพ เตรียมความพร้อมกองกำลังสำรอง(รด) ทหารประจำการทำหน้าที่เพียงกองกำลังป้องกันตนเอง  สี่ ลดขนาดกองทัพ ให้ จิ๋วแต่แจ๋ว เพิ่มประสิทธิภาพและความทันสมัย ห้า กองทัพขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น งบประมาณและการโยกย้ายตำแหน่งต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐบาล

หากกองทัพยังคงแสดงบทบาทเป็นนักเลงโตทางการเมือง วางแผนสืบทอดอำนาจต่อไปอีก เข้าไปยึดอำนาจกับงานที่ไม่ใช่หน้าที่หลัก แล้ว ทำให้งานในหน้าที่หลักสุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบ ความเสียหายจะไม่จำกัดเฉพาะ กองทัพหรือกลุ่มผู้นำกองทัพเท่านั้น แต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  เสถียรภาพการเมืองและกระทบต่อระบบการปกครองตามประเพณีและองคาพยพส่วนต่างๆที่ สืบทอดกันมาช้านานอีกด้วย ถึงวันนั้น     ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มขยายความขัดแย้งในสังคมให้รุนแรงมากยิ่งขึ้นและไม่รู้ว่าจะลงเอยกันได้ในสภาพแบบไหนกัน 

แล้วประเทศไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร  ?

 สมยศ พฤกษาเกษมสุข  24.7.61

ประชาสัมพันธ์    จำหน่ายรูปภาพเพื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ถูกจองจำ

 

1400753646-2013120117-o