โศกนาฏกรรมในกระบวนการยุติธรรม
เกิดเหตุโศกนาฏกรรมในกระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 61 นายศุภชัย ทัฬหสุนทร อายุ 52 ปี กระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เสียชีวิตอย่างอนาถ เป็นการประท้วงกระบวนการยุติธรรมเมื่อ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายณัฐพงศ์ เงินคีรี อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาฆ่านายธนิต ทัฬหสุนทร อายุ 23 ปี ลูกชาย เมื่อปี 2559โฆษกศาล ยุติธรรม ชี้แจงเหตุยกฟ้องว่า พยานหลักฐานอ่อน ไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดผู้ลงมือฆ่า
น.ส. ปทุมมา เนตรเชวียง น้องสะใภ้ของนายศุภชัย กล่าวว่า หลังจากหลานชายเสียชีวิตนายศุภชัยกับภรรยา ไปที่สถานีตำรวจสอบถามความคืบหน้าแต่ตำรวจให้ไปหาหลักฐานกันเอาเอง ทางด้านตำรวจ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนคดีครบถ้วน มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา ไปยังพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจาก พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน ไม่อาจมาเบิกความในชั้นศาลได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาล ต้องรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนที่นำส่งในชั้นศาลประกอบพยานหลักฐานอื่น แต่มีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ ส่วนภาพวงจรปิดช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้คนเป็นจำนวนมาก ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ปรากฏในชั้นศาลนั้น เห็นแต่เพียงเหตุการณ์ปากทางเข้าซอยที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถบันทึกภาพบริเวณจุดเกิดเหตุไว้ได้เมื่อพิจารณาตามหลักฐานจึง มีคำพิพากษา ยกฟ้อง
นาย ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวว่า ประจักษ์พยานฝั่งผู้เสียชีวิตที่ไม่ขึ้นเบิกความในชั้นศาล อาจเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “การล้มคดี” หากครอบครัวจะเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ และ ตำรวจรื้อคดีแนะนำให้ตำรวจตรวจสอบใบรับรองแพทย์ให้รอบคอบ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าภาพจากกล้องวงจรปิดน่าจะเพียงพอให้ยื่นอุทธรณ์ได้
ทางด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ การพลีชีพด้วยการกระทำ อัตวินิบาตกรรม เป็นการประท้วงต่อความอยุติธรรม ถึงเวลาต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกันใหม่ เรื่องแบบนี้ ผู้มีอิทธิพล ฆ่าคนตาย ศาลยกฟ้องมาหลายรายแล้ว ตอนผมอยู่ในคุกเจอผู้มีอิทธิพลที่มาติดคุกอยู่ด้วยกัน คดีดังระดับประเทศอย่างน้อย 2-3 คดี บอกว่าใช้วิธีการสั่งเก็บพยานปิดปาก ศาลจะยกฟ้องเพราะขาดพยาน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยไป (ม.227ป.วิอาญา) หรือหาก พนักงานสอบสวนหรืออัยการจะช่วยจำเลยหรือผู้ต้องหาก็สามารถทำได้ โดยการเตรียมพยานให้ข้อเท็จจริงขัดกันเอง ศาลก็จะยกฟ้องเช่นกัน ส่วนกรณีหลักฐานกล้องวงจรปิดหายไป หรือ มีไม่เพียงพอ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้ไม่มีหลักฐานจัดการกับจำเลยได้ เรื่องนี้ต้องสอบสวน หลักฐานบันทึกกล้องวงจรปิดหายไปได้อย่างไรจะได้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ แม้แต่ ในสถานที่เกิดเหตุหากกล้องเสียหรือสูญหายไปหรือนำไปซ่อมหรือชำรุด ก็ต้องดำเนินการสอบสวนว่า หายหรือชำรุด ไปได้อย่างไร และจะต้องลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่
กระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง การตัดสินแบบสองมาตรฐานและไร้มาตรฐาน จะต้องเกิดขึ้นอีกต่อไปทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม หากไม่แก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป ศาล-ตำรวจ จะต้องเตรียมทำลูกกรงเหล็กปิดกั้นตามระเบียงอาคารให้แน่นหนา เพราะอาจจะมีอีกจำนวนมากที่ต้องจบชีวิตลงแบบนี้อีกหลายราย “