ระวังเขื่อนไทยแตก !
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เวลา 20.00 น. เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศลาว แตกพังทลาย กระแสน้ำมหาศาลพัดพาผู้คน บ้านเรือนหลายแห่งพินาศย่อยยับ สูญหายกว่าสองร้อยชีวิต สาเหตุมาจากก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน สภาวะผันผวนของภูมิอากาศ มีฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง การแจ้งเตือนภัยที่ล่าช้า ทำให้ผู้ประสบภัยไม่ได้เตรียมตัวหนีภัย
ลาว เป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล มีประชากรเพียง 6.9 ล้านคน เศรษฐกิจของประเทศลาวเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยรัฐบาลลดการควบคุมจากส่วนกลางและกระตุ้นการลงทุนของเอกชนตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ลาวเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น แบตเตอรี่อาเซียนหรือ เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าส่งออกส่งไปขายให้ไทย จีน เวยดนาม เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์เหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า มีแม่น้ำและมีพื้นที่ความสูงมากมาย เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจึงทำรายได้เข้าลาวมาก แต่ด้วยการก่อสร้างรีบเร่ง จึงไม่ได้มาตรฐานที่ดีเพียงพอ โดยสำนักข่าวเวียงจันทน์ไทมส์ รายงานถึงการแถลงข่าวของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เขื่อนแตกเกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนัก ประกอบกับเขื่อนกั้นช่องเขาที่พังทลายลงเพิ่งมีการก่อสร้างเสร็จไม่นานจึงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ จึงอาจทำให้เกิดการปริแตกและขยายวงกว้างขึ้นจนพังทลายลงในที่สุดรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานลาวยังชี้อีกว่า สาเหตุที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือ โครงสร้างของเขื่อนที่พังนั้นมีความไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ
เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทเกาหลีใต้ 2 แห่ง, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ของไทย และวิสาหกิจของลาวแห่งหนึ่ง โดยนายสุนัย จุลพงศธร อดีตสส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่อเมริกา ได้เรียกร้องให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ของไทย แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีเขื่อนแตกในลาว เช่นเดียวกับรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ประธานาธิบดีสั่งให้มีการตรวจสอบบริษัทเกาหลีใต้ที่ไปลงทุนในลาวด้วย
ทางด้านเขื่อนในเมืองไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนกฟผ. ทุกแห่งยังแข็งแรง ปลอดภัย ตลอดอายุการใช้งานกำหนดให้มีการตรวจสอบเป็นประจำ มีบุคลากรความเชี่ยวชาญทั้งการตรวจวัดเป็นประจำทุกวัน ตรวจวัดการรั่วซึมของน้ำ แรงดันน้ำภายในตัวเขื่อนและฐานราก การทรุดตัวและการเคลื่อนตัว อีกทั้งยังมีการตรวจสอบเขื่อนอย่างเป็นทางการทุก ๆ 2 ปี จากผู้เชี่ยวชาญพิเศษทุกสาขาอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมเขื่อนในเชิงลึก ทั้งนี้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ จากคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง จึงมีความปลอดภัยดี
ถึงแม้เขื่อนผลิตไฟฟ้าโดยรวมจะมั่นคงเข้มแข็ง แต่เขื่อนสังคมไทยในขณะนี้ยังมีอันตรายปรากฏให้เห็นด้วยเหตุผลสองประการคือหนึ่ง โครงสร้างส่วนบน ได้แก่การเมือง อุดมการณ์และกลไกการเมืองนั้นมีความล้าหลังเป็นอย่างมาก ในขณะที่โลกก้าวหน้า ด้วยระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน โครงสร้างส่วนล่างได้แก่ระบบเศรษฐกิจ – สังคม ในยุคดิจิตอล ที่ทำให้ความคิดของผู้คนเป็นอิสระจากประเพณีเก่าแก่ ย่อมไม่อาจทนทานต่อการเมืองที่ล้าหลังได้ อันเนื่องมาจากโครงสร้างการเมืองของไทยยังคงเป็นเผด็จการทหาร ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกดขี่ประชาชนเป็นเวลายาวนานมาก ย่อมเป็นความขัดแย้งที่อาจทำให้เกิดรอยรั่วซึมของเขื่อนสังคมในที่สุดก็ถึงวันที่เขื่อนทางสังคมนี้แตกพังทลายได้เช่นเดียวกับเขื่อนแตกในลาว สองคือความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนได้แก่ ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ข้าราชการระดับล่าง พนักงานและผู้ประกอบการรายย่อย มีหนี้สินล้นพ้นตัว รายรับไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ ขาดความมั่นคงการทำงาน ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค มีราคาแพงเป็นอย่างมาก แต่รายได้ต่ำ ทำมาหากินลำบาก ปัจจัยนี้จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้ เมื่อวิกฤติการณ์การเมืองและเศรษฐกิจมาถึงจุดตรงกันหรือมาบรรจบพร้อมกันเมื่อไร ประกอบกับพายุฝนฟ้าคะนองจากกระแสความไม่พอใจที่ถูกกดทับมาหลายปี หรือจากความขัดแย้งภายในองคาพยพของโครงสร้างส่วนบนจนประนีประนอมกันไม่ได้อีกต่อไป จนต้องแตกหัก และ มีความ รุนแรงเมื่อนั้นแหละ เขื่อนที่คิดว่า เป็นโครงสร้างทางสังคมที่แข็งแกร่งก็จะพังทลายลงไปได้
จึงขอเตือนชาวไทยทุกคนเตรียมความพร้อมไว้ให้ดี เขื่อนทางสังคมอาจแตกร้าวถึงกับพังทลายได้ ประชาชนจะต้อง รวมกลุ่มกันไว้ให้เข้มแข็ง แลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ เข้าใจสถานการณ์การเมืองและความเป็นไปของบ้านเมืองให้ดี สะสมทุน ความรู้ เตรียมอุปกรณ์ยังชีพจำเป็นและพาหนะหนีภัย เช่นเรือยาง เสื้อนิรภัย เมื่อเกิดพายุฝนลมแรงหรือเขื่อนแตกเมื่อไร จะได้เอาตัวรอดได้เพื่อรับมือภัยภัยพิบัติทางสังคมและเตรียมตัวสร้างสังคมใหม่ที่งดงามและเข้มแข็งกันต่อไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 3.8.61