บทความ

พฤติกรรมโกหกกลางวันของคสช.กรณีกริชสุดา คุณะเสน


หมายเหตุ เรื่องนี้เขียนขึ้นในปี 2557 แต่ไม่มีสื่อใดกล้านำไปเผยแพร่ จึงกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง

พฤติกรรมโกหกกลางวันของคสช.กรณีกริชสุดา คุณะเสน

ประดาบ ,30 สิงหาคม 2557

เป็นเรื่องอื้อฉาวกรณีคลิปวีดิโอสัมภาษณ์ กริชสุดา คุณะเสน หรือเปิ้ล สหายสุดซอย ซึ่งเป็นนักกิจกรรมในกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เปิดเผยว่า ถูกทหารควบคุมตัวไปทรมาน ทำร้ายร่างกาย ภายในค่ายทหาร เผยแพร่ภาพเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2557 ทำให้ฝ่ายทหารออกมาปฏิเสธข่าวการทรมานผู้ต้องหาและยังได้ออกหมายจับ ด้วยการตั้งข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาอาวุธสงครามใช้ก่อเหตุช่วงที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกด้วย

ผมรู้จักกับกริชสุดา คุณะเสน ตั้งแต่ปี 2551 เมื่อเธอกับพรรคพวก 4-5 คน ในนามของกลุ่มเสรีปัญญาชน มาหาที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ กลุ่มนี้เป็นคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยออกมาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง จนกระทั่งกริชสุดา ถูกจับกุมโดยทหารภายใต้กฎอัยการศึก

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ทหารมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี 50 นาย บุกเข้าไปบ้านเลขที่ 9/74 หมู่บ้านบางแสนมหานคร ต.แสนสุข จ.ชลบุรี เป็นบ้านของมนัญชยา เกศแก้วหรือ เมย์ อียู ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง แต่เมย์ อียูกลับไปเยอรมันเสียก่อน ทหารจึงจับกุมกริชสุดา พร้อมอาวุธปืนขนาด 11 มม.หนึ่งกระบอก และหลักฐานการโอนเงินให้นักโทษการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

กริชสุดาเปิดเผยว่า ถูกมัดมือ ใช้ผ้าปิดตา มาที่ค่ายทหาร ถูกควบคุมตัว ได้อาบน้ำไม่กี่ครั้ง มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมาถูสบู่ให้ มีเจ้าหน้าที่มาสอบสวนได้ตบที่ใบหน้า เอาถุงดำคลุมหัว แล้วทำร้ายทุบตี จนสลบแล้วใช้น้ำลาดพื้น

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  หัวหน้าคณะรัฐประหารพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ จะไปทรมานขนาดนั้น ทั้งหมดไม่มีใครถูกซ้อม ถูกทรมานสักคน ตรงไหน ทำไมเขาจะทรมานเธอใช่หรือไม่ นี่ถือว่าส่อเจตนาไม่ดีและไปรวมกลุ่มกับใครก็รู้อยู่ที่ทำผิดทั้งนั้น ละเมิดสถาบันบ้าง หนีหมายเรียก หมายจับ จะต้องถูกดำเนินคดี และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนใครเลย (มติชน 9 สค.57 )

ส่วนพ.อ.วันชัย สุวารี โฆษก คสช. แถลงว่า “ยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี ไม่เคยปฏิบัติเหมือนผู้กระทำความผิดอย่างที่มีการกล่าวอ้างอย่างแน่นอน(โลกวันนี้วันสุขฉบับที่ 476)

เรื่องนี้เงียบหายไปโดยไม่มีความคืบหน้าว่าสรุปแล้ว กริชสุดาหรือว่า พล.อ.ประยุทธ์  กับ พ.อ.วินชัย ฝ่ายไหนพูดโกหกมดเท็จกันแน่  ?

ดูตัวอย่างบางตอน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้อ่านแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนกองทัพบกมีข้อความตอนหนึ่งว่า สิ่งที่กองทัพดำเนินการเวลานี้จำเป็นต้องยึดถือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ “(มติชน 25กพ.57) แต่แล้วในเวลาถัดมาไม่กี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์ก็ก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญกระทำความผิดกฎหมายเสียเอง

ในกรณีกริชสุดาก็เช่นกัน หลังจากถูกจับกุมคุมขังไว้ที่ค่ายทหารตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวกริชสุดา ระบุว่า การควบคุมตัวเป็นเวลา 24 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อหาเกินระยะเวลาตามพรบ.กฎอัยการศึก ซึ่งต้องไม่เกิน 7 วัน เป็นการควบคุมในสถานที่ลับ ดังนั้นการควบคุมตัวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย(ข่าวสด 23มิย.57) ซึ่งพ.อ. วินชัย สุวารีกล่าวถึงกรณีว่า  เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาและให้กลับบ้านแล้วแต่เพราะว่าเจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยตนเองต่อสังคม จึงทำให้หลายฝ่ายอาจเข้าใจผิดและเป็นกังวล (ไทยรัฐ 23 มิย.57) ทั้งนี้ในวันที่ 18 มิย. คสช.ต้องการขอความร่วมมือจากริชสุดา เพิ่มเติม จึงเชิญมารายงานตัว ซึ่งปฏิบัติทุกขั้นตอนยึดมั่นหลักสิทธิมนุษยชนขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้

ต่อมานายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากฝ่ายทหารกรณีมีข่าวว่า กริชสุดา เสียชีวิตแล้วไม่เป็นความจริงและทราบว่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 24 มิถุนายน  57

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมประจักษ์ชัดแล้วว่า ใครกันแน่โหกมดเท็จ?  คำพูดที่ขัดแย้งกันเอง เป็นการซ่อนเร้นความจริง เพราะความจริงกริชสุดา ถูกคุมขังระหว่าง 28 พฤษภาคม จนถึง 24 มิถุนายน ไม่ได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้านตามที่พ.อ.วินชัย สุวารี ระบุเหมือนกับกรณีที่เคยบอกว่า นายการุณ โหสกุล ได้ปล่อยตัวไปแล้ว แต่ภรรยาของนายการุณออกตามหา จนทหารยอมปล่อยตัวออกมาในที่สุด

พฤติกรรมแบบนี้บ่งบอกได้ว่า คณะรัฐประหารน่าเชื่อถือเพียงใด ?

ในเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาก็เช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้กฎอัยการศึกและทำการรัฐประหาร ใช้อำนาจป่าเถื่อนปราบปรามประชาชนมีหลายกรณีด้วยกันที่ทหารเข้าตรวจค้นที่อยู่อาศัย จับกุมคุมขังตามอำเภอใจ และใช้วิธีการทรมาน ให้รับสารภาพ กลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเปิดเผยอีกว่า ผู้ต้องหาคดีอาวุธสงครามมักถูกซ้อม ทรมานอย่างป่าเถื่อน ด้วยการใช้กระบองไฟฟ้า คลุมหัวด้วยถุงดำ เตะต่อยตามร่างกาย เช่นเดียวกับกรณีนายสุรกริช ชัยมงคล ผู้ต้องหาคดียิงนายสุทิน ธราทิน ซึ่งขัดขวางการเลือกตั้ง นายสุรกริช ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 57 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 สค.57 จากการเปิดเผยของนักโทษที่ใกล้ชิดยืนยันว่านายสุรกริช ถูกซ้อมทารุณก่อนส่งตัวเข้ามาคุมขังที่เรือนจำ ประกอบกับมีโรคประจำตัว ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี เป็นเหตุให้จบชีวิตลงไปเสียก่อน

ภายใต้การปกครองเผด็จการ สื่อมวลชนไม่กล้าเปิดเปิดความจริง ผู้คนหวาดกลัวอำนาจป่าเถื่อน ความเป็นจริงจึงถูกปกปิด แต่เชื่อได้ว่าเมื่อน้ำลดแล้วตอจะผุด พร้อมกับความชั่วร้ายและความระยำตำบอนของเผด็จการทหารจะถูกเปิดเผยอย่างล่อนจ้อน

hqdefault