ชูสามนิ้วประจันบาน
การต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ใช้เสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ โดยเริ่มต้นจากการลงประชามติไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีสัญลักษณ์เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การชู 3 นิ้ว สื่อความหมาย ถึงการเรียกร้อง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ โดยในช่วงเวลานั้น การชู 3 นิ้ว ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games เป็นการแสดงออกของ การ “ อารยะขัดขืน” เพื่อต่อต้านการกดขี่ข่มเหงจากเผด็จการทหาร สัญลักษณ์นี้ยังคงความต่อเนื่องโดยทั่วไปของการประท้วงและการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของประชาชน เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนที่น่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ เป็นอย่างมากทีเดียว
ภาพที่โดดเด่นชัดเจนของการชูสามนิ้วปรากฎขึ้นเมื่อนักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ชูสามนิ้วต่อหน้าเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ทั้งห้าคนนี้ถูกจับกุมและปล่อยตัว แต่ในเวลาต่อมา ใผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกดำเนินคดี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน
จะโดยตั้งใจ หรือโดยบังเอิญก็ตาม การชูสามนิ้ว ในความหมายที่มาจากคำขวัญที่ว่า เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศฝรั่งเศส โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่มีรากฐานมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสนั่นเอง
การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เกิดขึ้นจากความชั่วร้ายของกษัตริย์ หลุยส์ที่ 16 ในการเก็บภาษีที่ดิน ในภาวะแร้นแค้นของชาวฝรั่งเศส จึงเรียกประชุมสภาฐานันดร ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทน ฐานันดรที่ 1 คือ พระและนักบวช ฐานันดรที่ 2 คือ ขุนนางและชน ฐานันดรที่ 3 คือ สามัญชน เป็นคนส่วนใหญ่ เกิดปัญหาขึ้นเพราะกลุ่มฐานันดรที่ 3 เรียกร้องให้นับคะแนนเสียง เป็นรายหัว แต่กลุ่มฐานันดรที่ 1 และ 2 ซึ่งได้ร่วมมือกัน เสนอให้นับคะแนนเสียงแบบกลุ่ม จึงทำให้กลุ่มฐานันดรที่ 3 เดินออกจากสภา แล้วจัดตั้ง สภาแห่งชาติ โดยเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ในขณะเดียวกันกับ การประท้วงบนท้องถนนขยายตัวอย่างกว้างขวาง และเกิด ความวุ่นวายในปารีส กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ส่งกำลังทหารปราบปรามประชาชน แต่ประชาชนลุกขึ้นสู้ได้ร่วมมือกันทำลายคุกบาสตีล (Bastille) ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมือง และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองในระบอบเก่าเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789
สภาแห่งชาติได้มีคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง เป็นการปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “เสรีภาพ,เสมอภาค,ภราดรภาพ” เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวฝรั่งเศสทำการโค่นล้มกำจัดระบอบการปกครองกษัตริย์-ขุนนาง -อภิสิทธิ์ชนให้หมดไปจากฝรั่งเศส เหตุการณ์สำคัญคือในเดือนตุลาคม 1789 ประชาชนเดินขบวนสู่พระราชวังแวร์ซายซึ่งบังคับให้กษัตริย์และราชสำนักกลับไปยังกรุงปารีส
เหตุการณ์ในปีถัด ๆ มาแสดงถึง ความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างสมัชชาเสรีนิยมต่าง ๆ กับกษัตริย์ และขุนนาง ที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปใหญ่ครั้งใหญ่จนกระทั่งมีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตในปีถัดมา
พระองค์ถูกตัดสินว่ามีความผิดทรยศต่อชาติ เนื่องจากพบหลักฐานว่า พระองค์วางแผนร่วมมือกับต่างชาติต่อต้านฝ่ายปฏิวัติ โดยมีการเปิดเผยเอกสารลับจากตู้เก็บเอกสารของพระองค์ที่มีเนื้อหาต้องการยึดพระราชอำนาจคืน สมาชิกสภาแห่งชาติ เห็นชอบกับโทษประหาร 387 คน ส่วนอีก 334 คนเห็นว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่น สุดท้ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตินในวันที่ 21 มกราคม 1793 จากนั้นอีก 9 เดือน พระนางมารีอองตัวเนตก็ต้องถูกประหารชีวิตเช่นเดียวกัน เป็นอันสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์และก้าวสู่การปกครองสมัยใหม่ในระบอบสาธารณรัฐ จนถึงปัจจุบันนี้ ฝรั่งเศสถูกจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประเทศฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 82 ล้านคนต่อปี
ประเทศฝรั่งเศส ยังเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นสถานที่ของคณะราษฎร นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ใช้ประชุมวางแผน “การปฏิวัติสยาม” เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นจุดกำเนิดของระบบรัฐสภา และพรรคการเมืองในประเทศไทย
ไม่น่าเชื่อเลยว่า หลังจาก การปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านมาแล้วถึง 230 ปี ประชาชนคนไทย ในโลกยุคดิจิตอล ยังคงต้องชูสาวนิ้วในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่ง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ กันต่อไปอีก และยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนไหนของวิวัฒนาการสังคมหรือจะลงเอยกันแบบไหน ?
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 1 พค.2562
“สองแผ่นดิน” บันทึกเรื่องราวเป็นกวีศิลป์แห่งความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดรวดร้าวจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ควรค่าต่อการเป็นเจ้าของ คำนิยมโดยวัฒน์ วรรลยางกูร กวีกบถนอกราชอาณาจักร รายได้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมือง นำผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ราคา 150 บาท ค่าส่ง 20.00 บาท รวม 170 บาท สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 170.00 บาท ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0 ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005