
ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องราวที่ได้ฟัง หรือแม้แต่ชอบคนที่เล่าเรื่องนั้น
เรื่องราวของ ชายผู้กล้าเมื่อจำเป็นต้องกล้า ผู้ลุกขึ้นสู้กับความไม่เสมอภาค อย่างไม่น่าเชื่อ
คุณรู้สึกอย่างไร… เมื่อได้ยินเรื่องราว ของคนผู้ไม่ยอมแพ้ มีใจคอกว้างขวาง …หยิบยื่นความเมตตาให้กับผู้อื่น ขณะที่เขาตกอยู่ในสภาพการณ์อันเลวร้าย แม้ต้องเผชิญกับการกระทำ ทารุณโหดร้าย ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ต่ำต้อยด้อยค่าน่าอับอายด้วยการคุมขัง…. ความทุกทรมานซึ่งเกิดจากการข่มเหงตามอำเภอใจ ต้องเผชิญกับผู้คนซึ่งเต็มไปด้วยความโกรธแค้น หวาดระแวง ละโมบ ใจคอคับแคบ ลวงหลอก …. ในที่ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย สิ้นแรง เย้ยหยัน และจดจ่ออยู่แค่การป้องกันตัวเอง แสดงความเลวร้ายภายในตัวตน ฉายโชนออกมาไม่หยุดหย่อน…บุคคลผู้สิ้นหวังมองคนในแง่ร้าย เหล่านี้เกิดขึ้นมาจาก … องค์กร ของรัฐบาลที่ไม่มีมนุษย์ธรรม เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ถูกละเมิดอย่างเลวร้าย
สภาพการณ์ปัจจุบัน ประชาชนต้องทนอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อม ที่ถูกจำกัด ตามคำสั่งให้ทำ ถูกสั่งให้คิด ถูกละเลย ละเมิดสิทธิจนเป็นเรื่องปกติ โดนหยามเหยียดอยู่บ่อยครั้ง และได้รับการปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งหาแตกต่างไม่ เทียบเคียงกับระบอบปกครอง แต่ครั้งโบราณ ที่มิได้ทำให้ตระหนัก ในคุณค่าว่า ทุกคนคือ .. “มนุษย์” หากแต่เป็นแค่เพียงสิ่งของเครื่องใช้เท่านั้น
ฌอง ฌาคซ์ รุสโซ [Jean Jacques Rousseau] นักปรัชญา ชาวฝรั่งเศส คศ.1712 – 1778 ได้ให้คำอธิบายว่า..มนุษย์นั้นมีความสามารถ มีมันสมอง เกิดมามีอิสระ แต่ถูกจำจอง ..รัฐควรมีหน้าที่เพียงส่งเสริม สิทธิเสรีภาพ
“MAN IS BORN FREE, AND EVERYWERE HE IS IN CHAINS “
มนุษย์เกิดมา มีอิสรภาพเสรี แต่ทุกหนทุกแห่ง มนุษย์ล้วนต้องพันธนาการ
มนุษย์ต้องไม่ถูกลดคุณค่า หรือถูกใช้เพียงเพื่อหาผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง ด้วยความอยากมีอำนาจสูงสุด จึงเที่ยวทำลายเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งเท่ากับทำลายจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์ของเขา ภายใต้อิทธิพลที่ไม่เห็น ในคุณค่าของชีวิต และศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ได้ช่วงชิง เจตจำนง .. “การมีชีวิต” ไปจากมนุษย์ ทำให้มนุษย์ กลายเป็นเพียงแค่ ..วัตถุที่ต้องถูกกำจัดทิ้ง เมื่อหมดประโยชน์
การจับคนเห็นต่าง ติดคุกนานนับปี โดยใช้เครื่องมือ “กระบวนยุติความเป็นธรรม” กระทำตามอำเภอใจ ต่อนักคิด นักเขียน โดย รัฐเผด็จการทหาร ซึ่งแม้มิได้มุ่ง “กำจัดชีวิต” เป็นสำคัญ อย่างที่พวกเขาตระหนัก แน่ชัดแล้วว่า …การฆ่า หรือ ทำให้คนเหล่านี้ สูญหาย เป็นอะไรไป ก็จะมีผู้ฟื้นคืน ลุกขึ้นมาต่อสู้ทดแทน นับจำนวนอีกมากมาย
หากแต่เป้าประสงค์ เพื่อกำจัด “เสรีภาพ” มิให้มีโอกาสผลิตงานคิดและงานเขียน สู่สาธารณะ ได้อย่างเปิดเผย ทางเลือกที่ไม่ได้ทำลาย ชีวิตทางกายภาพ ของปัญญาชน ทว่ากลับมุ่งหมาย ทำลาย ชีวิตทางด้านการเมือง และวัฒนธรรม .. อันเป็นคุณค่าความหมายที่สำคัญยิ่งยวด ของการดำรงตน ในวิถีฐานะแห่ง ปัญญาชน ทำให้ตายไปจากสาธารณะ หรือหมดบทบาทของการเป็น ปัญญาชนสาธารณะ [Public Intellectual] หรืออาจกล่าวได้ว่า คุก และ อำนาจ เผด็จการ ในรูปแบบต่างๆ ได้แยกปัญญาชน ออกจากสาธารณะ ปิดโอกาสมิให้ได้สื่อสารทางความคิด กับสังคม ทำความคิด วิพากษ์วิจารณ์ ทัดทาน ผู้มีอำนาจค่อย ๆ เลือนหายไป ผลงานถูกสกัดกั้น แยกออกพ้นจากการรับรู้ ของสาธารณะ ลบเลือนหายไปจาก ความทรงจำของสังคม
ดังเช่น….สภาพฝันร้ายแบบออร์เวลเลี่ยน [Orwellain Nightmare] ที่สะท้อนไว้ในนิยาย “1984” ของนักเขียนชื่อดัง ยอร์จ ออร์เวลล์ [George Orwell] คือการที่รัฐเผด็จการ Big Brother เข้ากำกับจับตาและควบคุมแทบทุกย่างก้าว ของพลเมืองในสังคม กล่าวถึง “การควบคุมความทรงจำของสังคมโดยรัฐบาลเผด็จการ” ใช้วิธีลบความทรงจำของสมาชิกในสังคม ที่มีเกี่ยวกับอดีต ทำให้พลเมืองมีชีวิตอยู่แต่กับปัจจุบัน จึงไม่มีโอกาสทบทวน และจดจำความผิดพลาด เลวร้าย ของผู้มีอำนาจอันกระทำไว้ในอดีตที่ผ่านมาได้
ด้วยเหตุที่….งานเขียนทรงพลัง สามารถเปลี่ยนทัศนคติ, เปลี่ยนประวัติศาสตร์, เปลี่ยนแปลงโลกได้ .. บทความที่เขียนอย่างมีพลังสามารถก่อให้เกิดความ เปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความคิดและการปฏิบัติ วรรณกรรมอันทรงคุณค่า จะส่งพลังอำนาจ บนศักยภาพสูงสุด ในการปลุกเร้า จิตวิญญาณ ยามเมื่อผู้คน รู้สึกว่า “เสรีภาพ” ถูกกดขี่ปราบปราม
งานเขียน ที่มีพลังมาก โดยผู้มีศักยภาพ สามารถอธิบายการกระทำต่างๆ ของรัฐบาล เผด็จการ ที่กดขี่ต่อประชาชน จำนวนมาก ทำให้ผู้ครอบครองอำนาจ ต้องใช้อำนาจเผด็จการ ในการสกัดกั้น หรือตอบโต้ ด้วยวิธีการต่างๆ วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อกำจัดไม่ให้ นักคิด นักเขียนได้เขียน แสดง หรือ เผยแพร่ สิ่งที่ รัฐเห็นว่าเป็น “อันตราย”
ข้อกล่าวหาในอดีต เช่น มีการกระทำอันเป็น “คอมมิวนิสต์” และ “หมิ่นเบื้องสูง” ผิดตามมาตรา 112 จาก “ฝังล้มเจ้า” ในยุคปัจจุบัน ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการกำจัดกวาดล้างผู้มีความคิดเห็นแตกต่าง การจับกุมคุมขังเหล่านักคิด,นักเขียน, นักกิจกรรม, ปัญญาชน คือการปิดปากฝ่ายที่มีแนวคิดต่อต้าน การก่อรัฐประหาร เพื่อสถาปนา ระบอบเผด็จการ และสถานที่กักขัง “ผู้คิดเห็นต่าง” ประชาชนที่ต่อต้าน เผด็จการก็คือ “คุก”
คุก .. คือบทเรียนรู้ที่จะต้อง ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ในสภาวะบีบคั้นกดดัน เป็นสังคมที่ค่อนข้าง มีระเบียบวินัยเคร่งครัด ซึ่งก็สั่งสมความก้าวร้าว รุนแรงสูงเช่นกัน ความยากลำบากของคุก เป็นบททดสอบความแข็งแกร่ง ภายใน … สิ่งที่ท่าทายนักโทษ ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักโทษการเมือง” ทุกคนว่า จะเอาชีวิตรอดออกจากคุกได้อย่างไร โดยไม่บุบสลาย ไม่ถูกลิดรอน คุณค่าความเป็นมนุษย์ และจะรักษาหรือเติมเต็ม ความเชื่อของตนได้อย่างไร
ชีวิตในคุกนั้น กระชากจิตวิญญาณของมนุษย์ให้เปิดกว้าง เผยให้เห็นก้นบึ้ง ของจิตวิญญาณ ความต่ำช้าของมนุษย์ ที่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกันอย่างเลวร้าย เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ ระหว่างนักโทษ ด้วยกันเอง หรือจากเจ้าหน้าที่ผู้คุม กระทำต่อนักโทษ .. ในส่วนลึกของจิตวิญญาณเหล่านั้น เราได้เจอทั้งคุณลักษณะ และโทษลักษณะของมนุษย์ ที่มีทั้งดีและเลว ผสมปนเปกันอยู่ … เส้นที่แบ่งแยกความดี จากความชั่ว ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เผยให้เห็นได้ชัดเจน ในสถานที่ เรียกว่า “คุก” หรือ “เรื อนจำ” หรือ “ฑัณฑสถาน”
ประวัติศาสตร์ของนักโทษการเมืองนักสู้เพื่อเสรีภาพหลายเรื่องต้องแสดงถึงชัยชนะ ของจิตวิญญาณความเป็น มนุษย์ที่มีต่อ ความทุกข์ทรมาน และการกดขี่ข่มเหงอย่างโหดร้าย ในห้องขังที่คับแคบและแออัด
“คน” อาจดำรงศักดิ์ศรีความกล้าหาญ และความไม่เห็นแก่ตัวเอาไว้ตราบเท่าที่ .. ในขณะการต่อสู้อย่างขมขื่น เพื่อรักษาตัวเองไว้ด้วย ทุกวิถีทาง จนเขาอาจลืมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้ดีไปกว่าสัตว์เดรัฐฉาน บนความโหดร้าย อย่างที่สุด ที่มนุษย์กระทำต่อกัน สาระที่อยู่เหนือความโหดร้าย คือ คุณค่าในความหมาย ของชีวิต ซึ่งทำให้มนุษย์ รักษาจิตวิญญาณแห่งการดำรงอยู่ของเขาเอาไว้ได้
เราสามารถเลือกได้ว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ ต่อความทุกข์ ยากแสนสาหัสนั้นได้อย่างไรการแปรโศกนาฏกรรมส่วนตัว ให้เป็นชัยชนะ การพลิกสถานการณ์ทุกข์ยากให้เป็นความสำเร็จ เป็นศักยภาพสำคัญของมนุษย์ ในยามเผชิญหน้ากับ สภาวการณ์ ที่สิ้นหวัง เป็นความท้าทาย ในการเปลี่ยนแปลงชีวิต ของตัวเองอย่างคุ้มค่า บนความหมายของความเสียสละ
การต่อสู้ในสภาพของความยากลำบาก ต่อสถานการณ์ที่ชวนให้ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่อาจลดทอนศักดิ์ศรี และความหมาย ของการต่อสู้ .. เผชิญหน้า กับความทุกข์อย่างหยิ่งผยอง ไม่ใช่ทนทุกข์ทรมาน อย่างสิ้นหวังโดยไม่รู้ว่า จะอยู่หรือตายอย่างไร สำหรับ “ นักสู้ “ ความทุกข์ และความตายนั้นมีความหมาย เป็นความเสียสละอันมีนัยยะสำคัญลึกล้ำ ที่ไม่ต้องการตายไปอย่างไร้ประโยชน์ โดยธรรมชาติ ของความเสียสละนี้ อาจดูไร้ค่า ในโลกปกติ โลกแห่งความสำเร็จด้านวัตถุ แต่ในความเป็นจริง การเสียสละ ของเขานั้น มีความหมาย
ผลจากการวิจัย พบว่า มนุษย์ต้องการ “บางสิ่ง” เพื่อการมีชีวิตอยู่ มีบางสิ่งหรือบางคนในชีวิต ที่พวกเขา พร้อมจะพลีชีวิตให้ ด้วยซ้ำ ซึ่งโดยอุดมคติ เช่นนี้ หากว่าสามารถ ทำให้บรรลุถึงความจริง เช่นนั้นได้แล้ว… มนุษย์จะไม่รีรอแม้แต่น้อย ที่จะเสียสละชีวิตเพื่อให้ได้มันมา
“มนุษย์ สามารถมีชีวิต และยอมตาย เพื่ออุดมคติ และค่านิยมของเขา”
ความเด็ดเดี่ยวเฉพาะตัว ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ปัจเจกบุคคล แตกต่างกัน ภารกิจในชีวิต ย่อมบันดาลให้เกิดโชคชะตา ของมนุษย์ ซึ่งแตกต่างกันไป เฉพาะตัวแต่ละคน ไม่มีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นซ้ำ แต่ละสถานการณ์เรียกร้อง การตอบโต้ที่ แตกต่างกันไป บางครั้งสถานการณ์ของคนหนึ่ง อาจเรียกร้องให้เขาเลือกกำหนดชะตากรรม ของตัวเอง บ่อยครั้งคนจำนวนมาก อาจต้องการเพียงแค่ .. ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม
ชีวิตมีความหมายและจุดประสงค์เมื่อคนคนหนึ่งพบว่าโชคชะตา กำหนดให้เขาต้องทนทุกข์ ทรมาน เขาจำต้อง แบกรับความทุกข์นั้นมาเป็นของเขา เป็นภารกิจหนึ่งเดียว ที่โดดเดี่ยว และไม่เหมือนใคร
“ศัตรูบางพวกเอาชนะได้ด้วยความเด็ดเดี่ยว เดินทางคนเดียวติดคุกตามลำพัง”
ไม่มีใครมาปลดทุกข์หรือทนทุกข์ แทนเขาได้ โอกาสเดียวจึงมีอยู่ในวิธีที่เขาแบกภาระเอาไว้ ตามความหมาย แห่ง เจตจำนง การมีชีวิตอยู่ หรือ “อัตถิภาวะ” [ Existence – เอกซิสเทล ] ของเขา …. เมื่อตระหนักว่าไม่มีใคร จะมาแทนที่ สำนึกแห่งการรับผิดชอบแห่งการมีชีวิต ต่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปในงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทำให้รู้ว่า ทำไม ในอัตถิภาวะ ของตน และสามารถแบกรับได้ อย่างไร ก็ได้ทุกรูปแบบ “คนที่รู้ว่ามีชีวิตอยู่ทำไม ย่อมสามารถทนต่อการรับรู้ ว่าจะอยู่ได้อย่างไร เกือบทั้งนั้น” .. / ฟริดริช นิทช์เซ่
ปรัชญา อัตถิภาวะนิยม [Existentialism – เอกซิสเทลเชียลลิสม์ ] เป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ นักปรัชญาเอกซสเทลเชียลลิสม์ ที่มีผู้รู้จักและมีอิทธิพลมากที่สุดคือ ซ็อง ปอล ซาตร์ [ Jean Paul Sartre ] นักประพันธ์ ชาวฝรั่งเศส คศ.1905 เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม 1964 แต่ซาตร์ปฏิเสธการรับรางวัล l
ปรัชญาของ ซาตร์ …ชี้ให้เห็นความจริงว่า เสรีภาพคือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ มนุษย์คือเสรีภาพดังนั้นการทำลายเสรีภาพจึงเท่ากับทำลายความเป็นมนุษย์
เสรีภาพ … ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แสดงออกให้เห็นด้วย ความสามารถในการเลือก เช่น .. หากเราอยู่ภายใต้การปกครองแบบทรราชย์ เราก็มีทางเลือกคือ เลือกเข้าไปอยู่ในคุก หรือเลือกความตาย แทนที่จะทนอยูภายใต้
ระบอบปกครองของเผด็จการและต้องเชื่อฟัง รัฐบาลเถื่อน ……… / ช็อง ปอล ซาตร์
เมื่อ……ราษฎร ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาเรียกร้อง เสรีภาพ
เมื่อ…….ราษฎร เรียกร้องสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์อย่างสมภาคภูมิ
เมื่อ ……ราษฎร ยืนหยัดสู้ปฎิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไข และพฤติกรรม ในการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทรราชที่กดขี่ข่มเหงจะไม่เกิดขึ้นระหว่างผู้เสมอภาคกันเผด็จการอำนาจจะไม่มีเป้าหมายให้กดขี่ข่มเหงอีกต่อไปแม้พวกเขายังต้องการดำเนินไปตามวิถีเก่าๆ หากแต่เรา “ราษฎรผู้ไม่เชื่อฟัง” ไม่ยินยอมให้กระทำเช่นนั้นอีกแล้ว
“ คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อยินเรื่องราว ของ คนผู้ไม่ยอมแพ้ แปรเปลี่ยนศักยภาพของมนุษย์ ให้กลายมาเป็น การกระทำ ลงมือกระอย่างหาญกล้าและ กอบกู้อนาคตกลับคืน อนาคตจะไม่เปลี่ยนแปลง จนกว่าเราจะขยับ … ลงมือ
รุ่งศิลา / ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
“สองแผ่นดิน” บันทึกเรื่องราวเป็นกวีศิลป์แห่งความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวด ความหวังและการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ควรค่าต่อการเป็นเจ้าของ คำนิยมโดยวัฒน์ วรรลยางกูร กวีกบถนอกราชอาณาจักร รายได้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมือง นำผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ราคา 150 บาท ค่าส่ง 20.00 บาท รวม 170 บาท สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 170.00 บาท ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0 ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005