สายสัมพันธ์ประชาชนไร้พรมแดนไทย-มาเลย์-ออสเตรเลีย
13-20กรกฎาคม 2562
AK 883 นำผมเหินฟ้าจากกรุงเทพเมื่อเวลา 13.10 ถึงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเวลา 16.30 น.นั่งแทกซี่ในราคา 900 บาทไปสู่สำนักงานกลุ่มเพื่อนหญิง ( Persatuan Sahabat Wanita : PSWA :11A, Jalan Restu 1, Taman Restu, 43000 Kajang.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานรวมกลุ่มคนงานหญิงและงานส่งเสริมความเสมอภาคสตรี หลังจากพบPauline เจ้าหน้าที่กลุ่มจึงพาเข้าที่พัก Hamilton Hotel โรงแรมสองชั้นราคาเพียงคืนละ 500 บาท รายการแรกของวันอาทิตยที่14กค.62 เป็นการประชุมสัมมนาเรื่อง Global Picketline หรือการสร้างแนวปิดกั้นระดับโลกของคนงาน มี AAWL หรือ องค์กรคนงานสมานฉันท์ออสเตรเลีย-เอเชีย มี Jiselle Hanna เป็นผู้นำเสนอ โดยมีแนวความคิดกล่าวคือ
- AAWL เป็นองค์กรสมานฉันท์ของขบวนการแรงงานในออสเตรเลย ก่อตั้งเมื่อปี 1979 เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานในเอเชียในประเทศไทยมีอ.ณรงค์ เพชรประเสริฐได้ร่วมก่อตั้งสายสมานฉันท์คนงานเอเชีย-แปซิฟิคขึ้นในปี 2536 เพื่อให้ขบวนการแรงงานได้หนุนช่วยกันในเอเชียและในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก แต่ปัจจุบันในหลายแห่งล้มหายตายจากไปเหลือไว้แต่ที่ออสเตรเลียยังคงดำเนินงานระดับเอเชียอย่างจริงจังจึงได้จัดประชุมสายสัมพันธ์สมานฉันท์เชิงปฏิบัติการขึ้นที่มาเลเซีย
- แนวปิดกั้นสากล Global Picketline เป็นปฏิบัติการของคนงานทางอุตสาหกรรมจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจเมื่อโลกก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ บรรษัทข้ามชาติมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนแสวงหาแรงงานราคาถูกและทำลายการรวมตัวของคนงานเป็นสหภาพแรงงานทำให้สหภาพแรงงานในแต่ละประเทศอ่อนแอ ไร้อำนาจการต่อรอง มีการจ้างงานรับเหมาช่วงและทำสัญญาจ้างระยะสั้นไปทุกแห่ง ดังนั้นการที่สหภาพแรงงานจะเข้มแข็ง มีอำนาจการต่อรองในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น จึงจำเป็นที่คนงานในที่แห่งหนึ่งจึงจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงตนเองให้เข้ากับคนงานในอีกที่แห่งหนึ่ง และมีปฏิบัติการร่วมกันโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่ทำให้การพบปะกันเป็นไปได้อย่างงายดายในยุคดิจิตอล
- ตัวอย่างเช่น เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น สหภาพแรงงานจะต้องรู้ว่า บรรษัทข้ามชาติแห่งนี้มีที่ทำงานและมีกิจการการผลิต การบริการ และการบริโภคอยู่ที่ใดบ้าง จึงต้องทำการกำหนดแผนที่แห่งหนที่ตั้งของบริษัทนั้นแล้วติดต่อเชื่อมโยงให้คนงานที่ทำงานในบริษัทเหล่านั้นมีปฏิบัติการร่วมกัน เช่นอาจส่งแถลงการณ์ต่อกัน หรืออาจจัดการประชุมหน้าบริษัทเป็นแนวปิดกั้นที่เรียกว่า Picket Line ตามแผนผังที่ถูกจัดวางไว้แล้ว จนกระทั่งปฏิบัติการสูงสุด หากมีการนัดหยุดงานร่วมกันก็จะทำให้การต่อสู้ของคนงานมีพลังและมีอำนาจการต่อรองให้บรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการขึ้นมาได
วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ตอนเช้าไปพบกับพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย(PSM) มี Sivarajan Arumugam และ Choo Chon Kai มาให้การต้อนรับ และแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงพรรคสังคมนิยม มุ่งทำงานกับประชาชนกลุ่มคนทำงาน ปัจจุบันได้ทำงานกับสหภาพแรงงานพนักงานของรัฐ ซึ่งมีการจ้างงานสัญญาจ้างมากขึ้น เช่น การจ้างงานผ่านผู้รับเหมาช่วง ในกลุ่มพนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาล ได้รวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเจรจาต่อรองในเรื่องความมั่นคงการทำงาน เรียกร้องให้เมื่อทำงานครบสามปีให้มีการบรรจุเป็นพนักงานของรัฐ ให้มีการขึ้นเงินเดือนประจำ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงรับค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 1100 ริงกิตหรือราว8800 บาท ซึ่งตำอยู่มาก ทางพรรคสังคมนิยมจะมีเจ้าหน้าที่เต็มเวลาที่ทางสหภาพแรงงานเป็นผู้ว่าจ้างประจำสาขาพรรคในจังหวัดต่างๆ เป็นอีกพรรคการเมืองที่มีอุดมการสังคมนิยมยังคงทำงานอย่างแข็งขันในมาเลเซีย
ในตอนบ่าย พบกับองค์กร PKKUM ตั้งอยู่ที่ 118A Jalan Raja Laut Kuala Lumpu เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender ) ก่อตั้งเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 เป็นตัวแทนปากเสียงของคนชายขอบที่เป็นคนข้ามเพศเนื่องจากชุมชนยังไม่ยอมรับ ต่อสู้กับอคติทางเพศ สร้างความเสมอภาคและยุติธรรม มีกิจกรรมหลากหลายในการให้บริการชุมชนเช่น สาธารณสุข การดูแลสุขภาพ คนป่วยข้ามเพศ ผู้อยู่ร่วมกับเอดส์ อาศัยเงินทุนสนับสนุนจากประชาชนและคนข้ามเพศ จนมีสำนักงานและเจ้าหน้าที่จำนวนมากและอาสาสมัครมาทำงานให้กับหน่วยงานอย่างจริงจัง ปัจจุบันคนข้ามเพศมีบทบาททุกด้านของสังคมและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกด้วย
ตอนเย็นพบกับการก่อตั้ง กลุ่มสมานฉันท์ประเทศไทย(Thailand Solidarity) มีนักพัฒนาเอกชนที่ติดต่อและทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเอเชียเช่น North South Initiative และนักการเมืองจากพรรค People’s Justice Party และกลุ่มนักศึกษาชาวไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้มีการพูดคุยวิกฤติการเมืองไทย ผลกระทบต่อประชาชนในอาเชี่ยน โดยมุ่งเน้นเผด็จการทหารที่ปราบปรามประชาชน เป็นที่รับทราบกันดีถึงความรุนแรงทางการเมืองจากการจับกุมคุมขังนักโทษการเมือง การอุ้มฆ่า 8 คน และการทำร้ายร่างกายซึ่งเป็นที่สนใจอย่างมากโดยมอบหมายให้มีการค้นหาข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อการวางแผนให้มีปฏิบัติการของประชาชนในภูมิภาคอาเชี่ยน โดยจะเชิญบุคคลจากสหภาพแรงงาน องค์กรเอกชน นักกิจกรรมการเมือง ผู้ลี้ภัยมาร่วมงานการสมานฉันท์กับประชาชนคนไทยกันต่อไป
ตอนเย็นพบกับ Bruno เลขาธิการสหภาพแรงงานอีเล็คทรอนิคส์ มีสมาชิกอยู่4 แห่ง ให้ความรู้ว่า มีคนงานกิจการอีเลคทรอนิคในมาเลเซียจำนวน 120000 คน ตั้งอยู่ในเขตการค้าเสรี (Feee Trade Zone) เริ่มที่ปีนังแล้วขยายไปหลายแห่งซึ่งคนงานถูกกีดกันไม่ให้มีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน เคยมีการนัดหยุดงานของบริษัทฮิตาชิเมื่อปี 1990 คนงานที่นัดหยุดงานถูกเลิกจ้างทั้งหมด ฝ่ายสหภาพแรงงานตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศไม่ยอมรับรัฐบาลมาเลเซียและให้อเมริกาตัดสิทธิพิเศษGSP เป็นมาตรการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนรัฐบาลมาเลเซียต้องยอมรับให้คนงานกิจการอีเล็คทรอนิคสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาได้
วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 เดินทางไปยัง ชุมชน Orang Asli , Carey Island เป็นหมู่บ้านริมชายฝั่งคาบสมุทรฝั่งตะวันตกมาเลยเซีย รัฐสลังงอ (Selangor State) แม้จะเป็นเกาะแต่การเดินทางไปเป็นทางเรียบไม่ได้รู้สึกเลยว่าเป็นเกาะ ไปถึงชุมชนได้รับการต้อนรับให้สวมมงกุฎใบไม้ มีเด็กสาวเต้นรำพื้นบ้านให้ชมพร้อมกับอาหารกลางวันแบบพื้นบ้าน มีผักปลอดสารพิษและน้ำพริกรสจัดแบบมาเลเซียให้กิน ชุมชนแห่งนี้ต่อสู้เพื่อดำรงรักษาความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั่งเดิม หลังจากพื้นที่การปลูกต้นยาง กาแฟ และต้นน้ำมันปาล์ม (palm oil) ขยายตัวเข้ามาในพื้นทีอย่างหนัก มีการตั้งโรงงานทำน้ำมันปาล์มจำนวนมากจนสูญเสียทัศนียภาพอันงดงามไปไม่ใช่น้อย แต่ชุมชนแห่งนี้ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าไว้ได้ มีฝีมือการแกะสลักไม้ ผลิตของที่ระลึก จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 เดินทางด้วยรถไฟ พบกับสหภาพแรงงานคนทำความสะอาด โรงพยาบาล ที่ เมือง Kampa ทางตอนเหนือของมาเลย์เซีย เป็นเมืองแห่ง ขุนเขาล้อมรอบ มีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เมืองไหนๆของมาเลเซีย แต่เดิมคนงานทำความสะอาดเหล่านี้ เคยเป็นพนักงานของรัฐแต่ในปี 1996 รัฐบาลแปรรูปเป็นกิจการเอกชน มีสมชิกสหภาพแรงงาน 800 คนที่ทางพรรคสังคมนิยมให้การสนับสนุน จนสามารถทำข้อตกลงสภาพการจ้างกับบริษัทได้ยกระดับสภาพการทำงานด้านต่างๆให้ดีขึ้น ทั้งการขึ้นเงินเดือน สวัสดิการ ชั่วโมงการทำงาน วันหยุดและเงินโบนัสประจำปี ทางพรรคสังคมนิยมจัดการศึกษาให้ความรู้ด้านสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองกับนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาช่วงในกิจการทำความสะอาดให้กับโรงพยาบาล
ในตอนเช้าได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดีบุก ( Kinta Tin Mining Museum) เมือง Kampa ในหุบเขารัฐเปรัก (Perak) เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 จนถึงราว1970 จึงปิดตัวลงไป เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นการใช้แรงงานอย่างหนักในการดูดก้อนกรวดที่มีแร่ดีบุกจากพื้นดินแล้วนำมาสกัดเป็นแร่ดีบุก พิพิธภัณฑ์ใช้รูปปั้นแสดงถึงคนทำงาน นายจ้าง ลักษณะการทำงาน และเครื่องจักร รถบรรทุก เก็บรักษาไว้ให้ชมในพื้นที่เหมือนของจริง พร้อมกับรูปภาพขาวดำ สะท้อนการทำงานที่หนักหน่วง งานสกปรก และงานอันตราย คนงานเหมืองแร่เหล่านี้ถือเป็นรุ่นบุกเบิกอุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศมาเลเซียเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้
วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 เป็นวันว่าง ตัวแทนจาก AAWL เดินทางกลับส่วนผมพักอยู่ที่โรงแรม ไม่มีกิจกรรมไปไหน ได้แต่นั่งดูหนังซีรี่เกาหลีเรื่อง ลีซาน สายลมจากพระราชวัง ( Lee San, Wind of the Palace) เป็นละครอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกษัตริย์ที่เติบโตขึ้นมาในพระราชวังที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างป่าเถื่อนโหดร้าย แต่ลีซานกลับมีความสามารถในการวางแผนเอาชนะความชั่วร้ายของขุนนางและเมื่อมีอำนาจได้ปฏิรูปประเทศให้ก้าวหน้าด้วยการยกเลิกทาสในเกาหลี
วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 ผมเดินทางออกจากที่พักเมื่อเวลา 10.00 น. ด้วยรถแทกซี่ ใช้เวลาเพียงชั่วโมงถึงสนามบินแล้วเข้าสู่ห้องพักผู้โดยสาร L 13 จนถึงเวลา 14.15 จึงได้ขึ้นเครื่องบิน AK 886 มีพนักงานแอร์โฮสเตสสายการบินแอร์เอเชียให้การต้อนรับด้วยชุดกระโปรงสั้นรัดรูปสีแดง บินลัดฟ้าจากกัวลาลัมเปอร์ถึงกรุงเทพเมื่อเวลา 16.30 น.