เศรษฐกิจอับเฉาบนเส้นทางสู่Thailand 4.0
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 19.10.62
‘ไทยแลนด์ 4.0’ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม( Value–Based Economy) เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)ไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง (High-income countries) สำหรับประเทศไทย ได้เข้าสู่กลุ่มรายได้ปานกลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 หรือเมื่อ 43 ปีที่แล้ว และในปัจจุบัน ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 189,000 บาทต่อปี ซึ่งทำให้ประเทศไทยยังย่ำอยู่ในกลุ่มกับดักรายได้ปานกลางตามเดิมทั้งนี้หากเศรษฐกิจไทย เติบโตราว 3.5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยในรอบ 5 ปีภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารเราจะยังอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ต่อไปอีกอย่างน้อย 30 ปี ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว
การนำพาสังคมไทยสู่การเป็น ‘ไทยแลนด์ 4.0’ นั้น จะต้องเปลี่ยนจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน ขณะเดียวกันยังต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ไปสู่การสร้างมูลค่า (High Value) หรือการสร้างผลิตภาพ (Productivity) นั่นเอง
ความรู้ทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกที่จะ ขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศ ไทยยังให้ความสำคัญระดับต่ำ เห็นได้จากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและ พัฒนาต่อ GDP เฉลี่ยในช่วง 13 ปี (2542-2554) ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.23 ต่อ GDP ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเฉลี่ยยู่ที่ร้อยละ 3.5ต่อ GDP
ในปี 2560 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในปี 2563 ไว้ที่ 1.2% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 212,340 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนจากภาครัฐ 25% หรือประมาณ 53,085 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 75% หรือประมาณ 159,255 ล้านบาท แต่กระนั้นก็ตามงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563 รวมทั้งสิ้น 37,000 ล้านบาทซึ่งยังเป็นงบประมาณที่น้อยและยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้อยู่มาก
ในด้านรายได้เฉลี่ยของคนไทยนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2560 พบว่า ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ย 26,946 บาท/เดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,437 บาท/เดือน ขณะที่มีครัวเรือนร้อยละ 50.7 มีหนี้สิน เฉลี่ย 178,994 บาท/ครัวเรือน ในขณะเดียวกันในรอบ 5 ปีทีผ่านมาพบว่าเป็นการพัฒนาแบบรวยกระจุกจนกระจาย ในปี 2560 สัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของครัวเรือนที่รวยสุดติดอันดับ 10 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ ถือครองทรัพย์สินในไทยถึง 47.15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คน 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่จนสุด ถือครองทรัพย์สินรวมกันเพียง 0.13 เปอร์เซ็นต์ ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินอย่างชัดเจน เป็นความเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้ารัสเซียและอินเดียไปแล้ว
ทางด้านเกษตรกรพบว่า ราคาพืชผลการเกษตรยังคงตกต่ำมาโดยตลอด ส่งผลให้เกษตรกรมีหนี้สินกันถ้วนหน้า มาตรการของรัฐไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ได้ เป็นมาตรการเฉพาะหน้าไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น เงินสวัสดิการคนจน เป็นเพียงกระตุ้นการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทางด้านผู้ใช้แรงงาน ยังคงได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 300-325 บาท ไม่พอเพียงต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับตนเองและครอบครัว ทำให้มีหนี้สินมาก อีกทั้งแนวโน้มยังต้องเผชิญกับการว่างงานอีกด้วย กล่าวคือปัจจุบันกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.09 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.62 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน และผู้รอฤดูกาลอีก 3 หมื่นคน มีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2563 อีก 5.24 แสนคน เพิ่มขึ้น 9.27 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจทุกด้านจะมืดมน สถานประกอบการต่างๆลดกำลังการผลิต และมีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตเช่นหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ มากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การว่างงานขยายตัวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เมื่อเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานมีรายได้ต่ำ ทำให้ไม่มีอำนาจซื้อ ไม่มีแรงจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจโดยทั่วไปจึงซบเซาอย่างหนัก มาตรการของรัฐเช่น ชิม ช๊อปใช้เป็นมาตรการเฉพาะหน้ากระตุ้นได้ไม่นานเศรษฐกิจก็อับเฉากันต่อไป
เผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐราชการรวมศูนย์ที่ล้าหลัง ไม่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทันสมัยไปได้ แม้จะโฆษณาชวนเชื่อในเรื่อง Thailand 4.0 แต่ในทางปฏิบัติไม่อาจไปสู่จุดหมายปลายทางได้ และยังก่อให้เกิด ความเหลื่อมล้ำต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีและการกระจายได้ที่เป็นธรรมอีกด้วย อีกทั้งรัฐบาลเผด็จการทหารยังนำเงินงบประมาณไปถลุงใช้ในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและไม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นมาได้ยิ่งทำให้งบประมาณแผ่นดินตกอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง ด้วยงบประมาณขาดดุลสะสมมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559-2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณไป 2,412,280 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณทั้งหมด 14,969,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.12% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รัฐบาลจัดทำงบประมาณ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล 2,731,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 469,000 ล้านบาทในในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม พบว่ากระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 233,353,433,300 บาท เพิ่มขึ้น 6,226,867,000 บาท จากเดิม 227,126,566,300 บาท
ในขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณ 368,660,344,500 ถูกปรับลดงบลง 386,746,900 บาทส่งผลให้มหาวิทยาลัย 53 แห่ง ถูกปรับลดงบประมาณลง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลถูกปรับลดงบฯสูงสุดมากกว่า 1,000 ล้านบาทส่วนอีก 23 สถาบันถูกลดงบประมาณ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท การลดทอนงบประมาณด้านการศึกษาจะทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำลงไปอีก
Thailand 4.0 จึงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเผด็จการทหารที่จะทำให้เศรษฐกิจอับเฉาไปอีกหลายปี และมีแนวโน้มที่ยากลำบากกันมากขึ้นจนกว่าคนไทยจะหมดความอดทนต่อความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ลุกขึ้นสู้ทำการเปลี่ยนแปลงให้โครงสร้างการเมืองมีความก้าวหน้า ทันสมัยตอบสนองต่อการไปสู่ Thailand 4.0 กันต่อไป
สมยศพฤกษาเกษมสุข 19.10.62
“สองแผ่นดิน” บันทึกเรื่องราวเป็นกวีศิลป์แห่งความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวด ความหวังและการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ควรค่าต่อการเป็นเจ้าของ คำนิยมโดยวัฒน์ วรรลยางกูร กวีกบถนอกราชอาณาจักร รายได้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมือง นำผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ราคา 150 บาท ค่าส่ง 20.00 บาท รวม 170 บาท สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 170.00 บาท ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0 ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005