วิกฤติผู้สูงวัย เรียกร้องเบี้ยยังชีพเดือนละ 3000บาท
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 11.11.2562
ประชากรผู้สูงวัยเติบโตอย่างรวดเร็วเริ่มในปี 2547 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเริ่มมีสัดส่วนมากกว่า 10% จนถึงปี 2562 จากจำนวนประชากร 66.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10,670,000 คน หรือร้อยละ 16.06 คาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีประชากรสูงอายุจะมีถึง 1 ใน 5หรือจำนวน 13 ล้านคน โดยคาดว่าในปี 2583 จะมีจำนวนผู้สูงวัยถึง 20 ล้านคน หรือ 1ใน 3 ของคนไทย(Super Aging Society).
สังคมสูงวัย เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ประกอบกับการคุมกำเนิดตั้งแต่ปี 2525 ทำให้อัตราการเกิดลดลง สัดส่วนของผู้สูงอายุจึงมากขึ้นตามลำดับ และมีอายุเฉลี่ย(Life Expectancy) เพิ่มสูงขึ้น โดยเพศชายจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 69 ปี ขณะที่เพศหญิงจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 75 ปีประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปปีละประมาณ 1 ล้านคน
แต่เดิมสังคมไทยเป็นครอบครัวขยายที่อยู่ด้วยกันทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย คนแก่เฒ่าได้รับการดูแลในครอบครัว แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ระบบทุนนิยม เกิดสังคมเมืองใหญ่ ที่เป็นครอบครัวเดี่ยว คนชราถูกทอดทิ้งให้อยู่ในชนบทในขณะที่คนหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมืองจนทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด คนชราจึงถูกทอดทิ้ง ในขณะที่สังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแบบ รวยกระจุกจนกระจาย ยิ่งทำให้เกิดวิกฤติการผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น
การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทำให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะ พึ่งพิงมากกว่าวัยทำงาน จึงมีผลกระทบต่อการบริโภค การมีอำนาจในการซื้อลดลง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจึงลดลงไปด้วย คุณภาพชีวิตประชาชนเลวร้าย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ มีหลักประกันรายได้การดำรงชีพ มีการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย
ลูกหลานคนชราที่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ได้รับค่าจ้างต่ำอยู่แล้วเพียงวันละ 325 บาท ไม่เพียงพอที่จะดำรงชีพให้กับตนเอง มีหนี้สินมากจึงไม่สามารถส่งเงินมาเลี้ยงดูคนชราได้ ยิ่งทำให้เกิดภาวะยากจนค้นแค้นมากขึ้น
ความยากจนในยามแก่เฒ่าซ้ำเติมวิกฤติการณ์คนชราเข้าไปอีก ปี 2557 มีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็คือมีรายได้ต่ำว่า 2,647 บาทต่อเดือน ส่วนหนึ่งมาจากบุตรหลานร้อยละ 37 ได้มาจากการทำงานร้อยละ 34 จากเบี้ยยังชีพจากรัฐร้อยละ 15 และเงินบำเหน็จบำนาญร้อยละ 5 และพบว่ามีผู้สูงอายุที่มีชีวิตอยู่คนเดียวร้อยละ 9 มีชีวิตอยู่ในเขตเทศบาลร้อยละ 10 และมีชีวิตอยู่นอกเขตเทศบาลในร้อยละ 8 (เฉลิมพล พลมุข,3พค.61 มติชน)
คนวัยทำงานประชากรอายุ 15-59 ปี มีภาระการทำงานเพื่อแบกรับค่าใช้จ่ายของเด็กและคนชราในอัตราส่วน 4 คนต่อหนึ่งคนชราแต่อนาคตอันใกล้ คนวัยทำงาน 2 คนจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูคนวัยเกษียณ 1 คน (พศ.2579) วัยทำงาน 37 ล้านคน เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีประกันสังคมและประกันสุขภาพเพียง 15 ล้านคน ที่เหลืออีก 20 ล้านคนจะเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ต้องพึ่งพิงการเก็บเงินออมในการดำรงชีพบั้นปลาย
เบี้ยยังชีพผู้สูงวัย
มีผู้สูงอายุที่ไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพของรัฐบาลประมาณ 8 ล้านคน และมีผู้สูงอายุจำนวน 3.6 ล้านคน ที่ยากจนโดยรับสวัสดิการของรัฐ ในปี 2561 ใช้งบประมาณจัดสรรเบี้ยยังชีพ 66,359 ล้านบาท
ยังมีประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุกว่าร้อยละ 30 ยังคงไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะในมิติด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางรายได้ ดังนั้น ในอนาคตประเทศเราจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในทางกลับกันจำนวนประชากรที่สามารถทำงานและสร้างรายได้จะลดลง
นอกจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางด้านสังคมคือการถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังมีชีวิตที่อัตคัตขัดสน การเป็นคนชราไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง ขอทาน ในด้านสุขภาพ คนชราอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เกิดโรคภัยได้ง่าย ในขณะที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวทำให้เกิดความเครียดสูงและซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงวัย ร้อยละ 95 มีโรคประจำตัวต้องพึ่งพายารักษาโรคมีผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ติดบ้าน ต้องพึ่งพิงคนอื่นช่วยดูแลกว่า 1 ล้านคนคิดเป็นเกือบร้อยละ 15
เรียกร้องเพิ่มเบี้ยชราเดือนละ 3000 บาท
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท หรือวันละ 20 บาทเท่านั้นเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป ไม่สามารถดำรงชีพได้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีกลุ่มองค์กรต่างๆ ได้มีการเคลื่อนไหวให้มีการเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้มากขึ้นกล่าวคือ
- กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 3000 บาทเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ต่อมาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆได้นำเสนอนโยบายในการเพิ่มเบี้ยชราเดือนละ 1000-3000 บาท
- เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ รวบรวมรายชื่อ 14654 ชื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยมีหลักการเปลี่ยนเบี้ยยังชืพเป็นบำนาญแห่งชาติ ให้ได้รับเดือนละ 3000 บาทเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน2562
- กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ กว่า 50 คน ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 245 บาทและให้เพิ่มเบี่ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 3000 บาทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562
- กลุ่มผู้สูงวัยเพื่อรัฐสวัสดิการ จ.สุรินทร์ นำคนชราจาก 5 อำเภอ จำนวน 80 คน มายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเพิ่มเบี้ยชราเดือนละ 3000 บาทผ่านนิวัติน้อยผาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562
“สองแผ่นดิน” บันทึกเรื่องราวเป็นกวีศิลป์แห่งความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวด ความหวังและการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ควรค่าต่อการเป็นเจ้าของ คำนิยมโดยวัฒน์ วรรลยางกูร กวีกบถนอกราชอาณาจักร รายได้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมือง นำผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ราคา 150 บาท ค่าส่ง 20.00 บาท รวม 170 บาท สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 170.00 บาท ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0 ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005