แรงงาน

ฟินแลนด์ลดเวลาการทำงานส่วนไทยขยายเวลาการทำงาน


ลดชม.การทำงาน

ฟินแลนด์ลดชั่วโมงการทำงานเหลือสัปดาห์ละ 4 วัน
ส่วนไทยขยายเวลาการทำงานเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 6 วัน

ประเทศฟินแลนด์ มีประชากรเพียง 6 ล้านคน มีการปกครองแบบสาธารณรัฐในระบบรัฐสภาประมุขของประเทศคือประธานาธิบดีมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของนโยบายต่างประเทศ อำนาจบริหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี  มีสภาเดียว  เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีระดับการพัฒนามนุษย์ที่ดีที่สุดในหลายด้าน เช่นด้านคุณภาพการศึกษา ด้านความโปร่งใส มีการทุจริตน้อยที่สุดและมีความเป็นประชิปไตยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ฯลฯ เมื่อปี 2019 มีนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลกคือ Sanna Marin  ด้วยวัยเพียง 34 ปี จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของฟินแลนด์  ได้เสนอตารางการทำงานแบบใหม่ โดยแบ่งให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ในเวลา 6 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้คนงานใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

“ฉันเชื่อว่าผู้คนควรใช้เวลากับครอบครัว คนที่รัก งานอดิเรกและใช้เวลากับด้านอื่นๆ ของชีวิต เช่น วัฒนธรรม และนี่อาจเป็นขั้นต่อไปสำหรับชีวิตการทำงานของเรา” Sanna Marin กล่าว

ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มมากขึ้นและทำกำไรให้กับนายทุนมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้อัตราการว่างงานเพี่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น การเสนอให้ลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อให้คนงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น โดยยังคงได้รับค่าจ้างที่สูงเพียงพอต่อการดำรงชีวิต เป็นกระแสไปทั่วโลก ทำให้ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ลดลงคือเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ในญี่ปุ่นหลายบริษัทเริ่มทดลองลดชั่วโมงการทำงานผลปรากฏว่า ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังสามารถลดการใช้พลังงานลงอีกด้วย

แต่ในประเทศไทยที่มีการปกครองกษัตริย์เป็นประมุข  จากการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีชั่วโมงการทำงาน สูงกว่ามาตรฐานโลก ด้วยตัวเลขเฉลี่ยสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ติดอันดับมากที่สุดในเอเชีย และ กรุงเทพฯ ยังติดอันดับ 5 เมืองที่มีชั่วโมงการทำงานมากที่สุด ด้วยตัวเลขเฉลี่ย2,191.3 ชั่วโมงต่อปี  สาเหตุหลักเกิดจากการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำกว่าการครองชีพ คนงานจึงมีรายรับไม่พอรายจ่าย จึงต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อสร้างรายได้ให้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต  คุณภาพชีวิตของคนงานไทยจึงตกต่ำย่ำแย่เป็นอย่างยิ่ง  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ถึงแม้ว่า พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ว่าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำถึงวันละ 425 บาท แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับกระทำตรงข้ามกับที่หาเสียงไว้นั่นก็คือการกดค่าจ้างให้ต่ำและเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้ยาวนานขึ้น จากการปรับเพิ่มล่าสุด ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไม่พอกิน คนงานจึงต้องทำงานล่วงเวลายาวนานชั่วโมงทั้งวันทำงานปกติและวันหยุดเพื่อได้ค่าจ้างสูงขึ้นให้เพียงพอกับการดำรงชีวิต

ช่วงแรกเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ทั่วโลกคนงานต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงยาวนานชั่วโมง นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของร่างกายและจิตใจของคนทำงาน  เฉลี่ยทำงานสัปดาห์ละกว่า 100 ชั่วโมง  การกดขี่อย่างทารุณทำให้คนงานรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งระบบสามแปด คือทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมงและพักผ่อน 8 ชั่วโมง

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ล้าหลังในเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง และต้องทำงานวันหยุด เนื่องจาก ได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงต้องบีบบังคับตนเองทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุด จนสุขภาพเสื่อมโทรม  ครั้นเมื่อทำงานจนอายุขัยมากขึ้นแล้ว ก็มักจะถูกเลิกจ้างลอยแพ กลายเป็นคนว่างงาน โดยรัฐบาลไม่ได้จัดให้มีการประกันรายได้และสวัสดิการสังคมที่ดีพอ  ในขณะที่คนงานรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานในอัตราที่ต่ำมาก ไม่มีอำนาจการต่อรองอย่างพอเพียงในการต่อสู้เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนทำงานให้ดีขึ้นมาได้ เนื่องมาจากกฎหมายแรงงานของประเทศไทยยังรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนงานไม่เพียงพอ

ba9c8cdikbccachc5jh8fโฆณาไล่ล่าถังเฉ้า