เศรษฐกิจทุนนิยมอินเดียสั่นคลอน เมื่อคนงานทุกภาคส่วนกว่า 250 ล้านคนนัดหยุดงานทั่วประเทศ
เศรษฐกิจอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ของโลก หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ เศรษฐกิจอินเดียก้าวกระโดดเป็นประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลถึง1200ล้านคนและด้วยบุคลากรที่มีความรู้และทักษะนำในเอเชีย อุตสาหกรรมมีขนาดเป็นร้อยละ 28 ของจีดีพี และมีการจ้างงานร้อยละ 14 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด มีการทำนายว่าในปี 2563 อินเดียจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลกอีกด้วย แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยเศรษฐกิจเติบโตอยู่ที 7 เปอร์เซ็นต์แต่ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดีย เคยประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาต้องการจะสร้างงานเพิ่มอีกหลายล้านตำแหน่ง พร้อมทั้งให้อินเดียเป็นประเทศที่มีมูลค่า GDP กว่า 153 ล้านล้านบาท ภายในปี 2024 แต่ปรากฏว่า เศรษฐกิจเริ่มชะลอลง การเติบโตทางเศรษฐกิจตกมาเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เป้าหมายยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอินเดียยังอยู่อีกไกล ปี 2019อัตราการว่างงานในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 6.1% สูงสุดในรอบสิบปีในขณะที่เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ10
คนงานอินเดียมีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทว่ามีความแตกแยกกันทั้งเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือฝ่ายต่างๆด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ทว่าสภาวะเศรษฐกิจบีบคั้นให้พวกเขารวมตัวกันโดยเฉพาะฝ่ายซ้ายที่เชื่อมั่นในพลังความสามัคคีของชนชั้นแรงงานและ สหภาพแรงงานที่เป็นอิสระจากผู้นำแรงงานขุนนาง มีการประชุมกันตลอดทั้งปีในการที่จะจับมือกันจนกระทั่งมีมติในการจัดการนัดหยุดงานทั่วประเทศ
นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที (ผู้นำพรรค Bharatiya Janata-BJP) ต้องเผชิญกับศึกหนัก เมื่อขบวนการสหภาพแรงงาน มีมตินัดหยุดงานทั่วประเทศ ต่อต้านนโยบายที่เป็นปฏิกิริยาต่อผู้ใช้แรงงานของรัฐบาลโมที ซึ่งนำพาอินเดียสู่เศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานเหมาค่าแรง การกดค่าจ้างให้ต่ำ การทำลายสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียให้แก้ไขกฎหมายแรงงานให้มีความก้าวหน้า เช่น การออกกฎหมายบำนาญถ้วนหน้าสำหรับคนชรา การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้พอเพียงของคนงานและครอบครัว การยอมรับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศในการรับรองสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง
การนัดหยุดงานประกาศโดย ศูนย์กลางสภาแรงงานกว่า 10 แห่ง ได้แก่ INTUC, AITUC, HMS, CITU, AIUTUC,TUCC, AICCTU, SEWA, LPF, UTUC) ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ รัฐวิสาหกิจขนส่ง การเงิน การนัดหยุดงานครั้งนี้นำโดยสภาแรงงานที่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในอินเดีย ที่ทำแนวร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน การนัดหยุดงานจะทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีในอินเดียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการเงิน ธนาคาร และขนส่งทุกระดับ ต้องหยุดชะงักลง การนัดหยุดงานครั้งนี้มีมติกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ให้เริ่มหยุดงานพร้อมกันในวันที่ 8 มกราคม 2563 โดยมีชาวนาจำนวนมาก เข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งนี้ด้วย นับเป็นการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในโลก
ในเมืองใหญ่ของอินเดียเช่นเดลลีรัฐพิหารทางตอนเหนือ รัฐอานธรประเทศทางตอนใต้ คนงานเหล่านี้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้พอเพียงสำหรับคนงานและครอบครัว ให้มีหลักประกันเงินบำนาญถ้วนหน้าสำหรับคนชราและหลักประกันรายได้ระหว่างที่ว่างงาน
อย่างไรก็ตามการนัดหยุดงานทั่วประเทศนี้จะไม่ยืดเยื้อเพราะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแสดงพลังแห่งความสามัคคีของชนชั้นแรงงานในอินเดีย เป็นเพียงการส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลเพื่อที่จะให้รัฐบาลหยุดการกระทำที่เป็นการทำให้คนงานตกอยู่ในสภาพที่ยากจนและเป็นปฏิปักษ์กับสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงานของคนอินเดียจะส่งผลให้เป็นการปลุกขวัญกำลังใจของคนงานในเอเชียให้ลุกขึ้นมาตอบโต้กับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายในยุคของเศรษฐกิจแบบดิจิตอลยุคใหม่