แฉละเมิดสิทธิแรงงาน เป็นเหตุสหรัฐตัดสิทธิ์ภาษีลอยแพคนงานไทยแสนคน
ขบวนแรงงานรวมพลังเรียกร้องรัฐบาลประยุทธ์แก้ปัญหาแรงงานก่อนถูกตัดสิทธิ์การค้าภายในเดือนเมษายนนี้
จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาแจ้งต่อประเทศไทยกรณีระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย โดยจะส่งผลต่อมูลค่าการค้าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ให้เวลาประเทศไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเมษายน 2563 หากรัฐบาลเพิกเฉยจะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าส่งไปสหรัฐ ต้องเลิกกิจการหรือลดกำลังการผลิตได้ จะทำให้คนงานตกงานถึง 80000-100,000 คนได้
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. นางสาวอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรีและเยาวชน นำคนงานกว่า 1000 คน มาชุมนุมที่หน้าอาคารสหประชาชาติ ถ. ราชดำเนินนอก ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แก้ไขปัญหาแรงงานเร่งด่วน เพื่อรักษาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในสหรัฐอเมริกาและในประชาคมยุโรปต่อไป
นางสาวอภันตรี เจริญศักดิ์ ได้เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2562 รัฐบาลสหรัฐได้แจ้งมายังรัฐบาลไทยว่า ประเทศผู้มีสิทธิได้รับ GSP ในกรณีประเทศไทยนั้น ต้องมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล เนื่องจากประเทศไทย ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน7 ประการด้วยกันคือ 1. การละเมิดสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน 2. ความอ่อนแอการบังคับใช้กฎหมายแรงงานทั้งการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ 3. การเอาเปรียบลูกจ้างเหมาค่าแรงและการใช้สัญญาจ้างชั่วคราว 4 ข้อจำกัดการจัดตั้งสหภาพแรงงานในกลุ่มแรงงานต่างด้าว5.การคุ้มครองลูกจ้างระหว่างการจัดตั้งสหภาพแรงงาน 6.การไม่มีหลักสุจริตใจการเจรจาต่อรอง 7.การจำกัดสิทธิการพูด การแสดงความคิดเห็นด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท ทั้งนี้หากรัฐบาลเพิกเฉย ไม่แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน จะกลายเป็นเงื่อนไขให้สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร(GSP) จำนวน 573 รายการด้วยกันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบด้วยการลดกำลังการผลิตหรือถึงขั้นปิดกิจการ จะทำให้มีการเลิกจ้างคนงานเพิ่มขึ้นอีกราว 80000-100,000 คน
นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้อีกด้วยว่า ประชาคมยุโรป (EU) ก็อาจตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาจะทำให้สินคาไทยกว่า 3 พันรายการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรไปด้วย ก็จะยิ่งซ้ำเติมสภาพทางเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่ลงไปอีก การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเช่นนี้ สหรัฐได้เข้ามาสำรวจเก็บข้อมูลไว้อย่างชัดเจนถึงความเป็นจริงที่ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยใช้ข้อมูลจากคดีแรงงานถึง 19 คดีด้วยกันเป็นข้อมูลในการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในครั้งนี้ โดยสหรัฐให้เวลารัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นภายในวันที่ 25 เมษายน 2563นี้
นางสาวอภันตรี เจริญศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยเจอปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้านด้วยกัน หากรัฐบาลไทยแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาแรงงาน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนไทยอย่างจริงจัง เช่น การรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง (ILO 87:98) ก็จะทำให้ประเทศไทยยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ในการช่วยให้ผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าไปสหรัฐ สามารถขยายการส่งออกต่อไปได้และเป็นการช่วยแก้ปัญหาการว่างงานที่กำลังมีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลควรดำเนินการทันทีภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ มิเช่นนั้นแล้ว ภาวะทางเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงไปอย่างมาก