ข่าว แรงงาน

การเลิกจ้างคนงานที่กำลังตั้งครรภ์: กรณีคนงานมิกาซ่า


คนท้อง

การเลิกจ้างคนงานที่กำลังตั้งครรภ์: กรณีคนงานมิกาซ่า (Dismissal of pregnant workers: the case of Mikasa worker)

LEK PATCHANEE·วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2020·เวลาในการอ่าน: 1 นาที

พัชณีย์ คำหนัก นักรณรงค์สิทธิแรงงาน

 

การเลิกจ้างคนงานระหว่างตั้งครรภ์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายครั้งไม่ว่าบริษัทใด ในขณะที่กฎหมายแรงงานมีบทบัญญัติคุ้มครองไว้ มีทั้งกรณีที่นายจ้างยอมจ่ายค่าชดเชย แต่ให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย และในกรณีนี้ นายจ้างเลิกจ้างโดยตั้งข้อหาลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบการทำงานของบริษัทเพื่อให้สามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้เพราะลูกจ้างไม่ยินยอมเขียนใบลาออก

กรณีเลิกจ้าง น.ส.วรินทิพย์ ชนาภาธนบูรณ์ อดีตลูกจ้างบริษัทมิกาซ่า อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) ผู้ผลิตลูกบอลหนังแบรนด์ดังจากญี่ปุ่น ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ตำบลปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

วรินทิพย์ เริ่มทำงานที่บริษัทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 ตำแหน่ง leader แผนก Panel Lie ถูกนายจ้างเลิกจ้างเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ข้อหามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ฝ่าฝืนกฎระเบียบการทำงานของบริษัทเรื่องการปล่อยเงินกู้และขายหวย ลอบเล่นหวย

ตามมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ คนงานที่ตั้งครรภ์จึงได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษที่ห้ามนายจ้างเลิกจ้างในขณะตั้งครรภ์ แต่กฎหมายแรงงานไม่ได้ห้ามนายจ้างเลิกจ้างคนงานที่ตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลอื่น หรือในกรณีที่คนงานตั้งครรภ์ได้กระทำความผิด เช่น กระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ ขาดงานติดต่อกันสามวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย กระทำความผิดซ้ำใบเตือน ฯลฯ และมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย (ตามมาตรา 119) ซึ่งนายจ้างใช้ช่องทางนี้ในการเลิกจ้าง

อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างโต้แย้งว่าการเลิกจ้างนี้ไม่ถูกต้อง คือ เป็นการเลิกจ้างระหว่างการตั้งครรภ์ขัดต่อกฎหมายแรงงาน เพราะบริษัทใช้หลักฐานที่เป็นข้อความการสนทนาระหว่างสองคนที่ปรากฏในแอปริเคชั่นไลน์เท่านั้น และข้อความดังกล่าว เกิดขึ้นนอกเวลาการทำงานและภายนอกบริเวณของบริษัท จึงไม่ได้เป็นการลักลอบเล่นหวยในเวลาทำงาน ไม่ได้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

การเลิกจ้างทำให้ลูกจ้างขาดรายได้ประจำ ตกงาน ทั้งอายุมาก (38 ปี) ยากที่จะหางานทำใหม่ได้ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีข้อจำกัดเรื่องอายุการเข้าทำงานไม่เกิน 30 ปี ทั้งไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ เช่น ประโยชน์ทดแทนการว่างงาน ได้รับเพียงเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของลูกจ้างเท่านั้น และในช่วงใกล้คลอด ลูกจ้างอยู่ในภาวะเครียดตกงานทำให้ครรภ์เป็นพิษ คลอดบุตรแฝด 2 คน เสียชีวิต 1 คน และมีภาระเลี้ยงดูบุตร 1 คน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

ลูกจ้างยืนยันไม่ได้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎระเบียบการทำงานของบริษัท จึงฟ้องร้องนายจ้างที่ศาลจังหวัดระยอง ขอเรียกร้องให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม นับอายุงานต่อเนื่อง และในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายจากการขาดรายได้นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานซึ่งเงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 22,000 กว่าบาท

ในความเห็นของผู้เขียน การเลิกจ้างคนงานตั้งครรภ์จะต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าลูกจ้างทำผิดจริงและเกิดความเสียหายต่อบริษัทอย่างร้ายแรง เพราะการเลิกจ้างการตกงานของคนงานตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลสร้างปัญหาตามมา ในแง่ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ และในแง่สถานะความเป็นอยู่ที่ทำให้ลูกจ้างเลี้ยงดูลูกอย่างยากลำบาก เมื่อบริษัททราบว่าลูกจ้างกำลังตั้งครรภ์ในระยะต้น จึงควรจัดการให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยหรือเปลี่ยนงานชั่วคราว (ตามมาตรา 42 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) เพื่อลดปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนทำงานและงานของบริษัทด้วย

—————————————

รูปภาพจาก MThai รวมสิทธิเกี่ยวกับประกันสังคมและกฏหมายแรงงานที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องรู้. 7 พ.ค. 2019. https://family.mthai.com/mom/1749.html

1Thanyanan Kooanupong

 

วีอ่ร์52.1