ข่าว

ศาลไม่ให้ประกันตัว อัญชัญ ปรีเลิศ “ รุ้ง” ประกาศเดินหน้าสู้ยกเลิกมาตรา 112


         (21.1.64) หลังจากศาลชั้นต้น พิพากษา จำคุก อัญชัญ ปรีเลิศ ในความผิดตามาตรา 112 และไม่ให้ประกันตัว  ทนายความได้ขอการประกันตัวไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 โดยในวันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อ้างเหตุ เป็นคดีร้ายแรง มีโทษสูง  เป็นคดีความมั่นคงแห่งรัฐ  กระทบจิตใจผู้จงรักภักดี หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี ทำให้อัญชัญ  ปรีเลิศ ในวัย 63 ปี ต้องใช้ชีวิตเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง  

        หากเทียบกับคดี “หมอนิ่ม” ในคดีบงการฆ่า นายจักรกฤษณ์หรือ เอ๊กซ์ พณิชย์ผาติกรรม สามี อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้ประหารชีวิต ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัวหมอนิ่มด้วยหลักทรัพย์เพียง 1 ล้านบาท โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตย่อมเป็นคดีร้ายแรงสูงสุด ศาลยังพิจารณาเห็นว่าเป็นสิทธิในการได้รับประกันตัวต่อสู้คดี  แต่ในกรณีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 43 ปี ( โทษน้อยกว่าประหารชีวิต) ใช้หลักทรัพย์เป็นเงิน 1 ล้านบาท เท่ากับของหมอนิ่ม แต่อัญชัญกลับไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

        การตัดสินคดีตามมาตรา 112 ของอัญชัญ ปรีเลิศเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาออกคำสั่งให้บังคับใช้มาตรา 112 จนตำรวจเร่งรัดในการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกันเต็มที่ โดยมีการกล่าวหาความผิด มาตรา 112 ทั้งสิ้น 54 คน เกือบทั้งหมดเป็นเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และปฏิรูปกษํตริย์ ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้ว่า ในชั้นตำรวจและอัยการจะเร่งรัดทำคดีและส่งฟ้องถึงศาลอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มถึงการตัดสินของศาลตามมาตรา 112 ในระดับที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นดังกรณีตัวอย่างของอัญชัญ ปรีเลิศ แม้ว่า การใช้มาตรา 112 นั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติต่างมองว่า เป็นกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีความรุนแรงเกินไป

       นส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง และพวกรวม 6 คน  ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหา มีความผิดตามมาตรา 112จากการแต่งชุด คร๊อปท๊อปไปเดินห้างสยามพารากอน ที่ สน.ปทุมวัน ได้ให้สัมภาษณ์กรณี ศาลจำคุกอัญชัญ ปรีเลิศ 43ปี ในความผิดตามมาตรา 112  ว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก  ซึ่งตนได้ก้าวพ้นความกลัวไปแล้ว การตัดสินให้อัญชัญ ติดคุกยาวถึง 43 ปี เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อสู้ต่อไป ในการยกเลิกมาตรา 112 ให้ได้ ในที่สุด   

กนกวรรณ กรรณแก้ว 21.1.64 “ประกายไฟ”