บทความ

บันทึกไว้ในแผ่นดิน(1)


(1) อยุติธรรม กับการ อดอาหารของเพนกวิ้น

โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข 24.4.64

วันที่ 9  กพ. 64 ตอนเย็น ฟ้าครึ้มฝน ท้องฟ้าดูสลัว ลมยังคงพัดแรง พนักงานอัยการนำตัวพวกเราเดินจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายังศาลอาญาเวลา 18.00 น.หลังจากที่ศาลไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำพา พริษฐ์ ชีวรักษ์   ปฏิวัฒน์  สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกส่งตัวมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ในวันที่ 14 กพ. 64 เพนกวิ้นได้พูดคุยหารือในกลุ่ม 4 คนด้วยกัน เกี่ยวกับ  การไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เท่ากับฝ่ายอำนาจรัฐเป็นฝ่ายกล่าวหา ปรักปรำ เพื่อทำลายเสรีภาพของประชาชน  ผมได้เสนอแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ผมได้เล่าให้แกฟังว่า การต่อสู้อหิงสาหรือการไม่ใช้ความรุนแรงนั้น คือการยอมรับการถูกทำโทษหรือการถูกทรมาน เพราะไม่ยอมร่วมมือกับความชั่วร้าย โดยเห็นว่า เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่รัฐ  ซึ่งถ้าตอบโต้กันด้วยความรุนแรง ก็จะเจอกับความรุนแรงจากรัฐ และนำความสูญเสียมาให้ จึงต้องยึดมั่นสันติวิธีในการต่อสู้กับรัฐเผด็จการ ในอดีตมหาตมะคานธีและลูเธอร์คิงก็เคยติดคุก โดยที่คานธียังได้มีการอดอาหารในคุกอีกด้วย โดยถือว่าเป็นการรับความทุกข์ด้วยตนเองเป็นการต่อสู้สันติวิธีอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนในประเทศไทยก็เคยมี ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เคยอดอาหารจนกว่าสุจินดา คราประยูรจะลาออกในปี 2535 และต่อมาก็อดข้าวอีกครั้งถึงสามเดือนเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่อสู้ด้วยสันติวิธีแบบนี้ต้องใช้ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เป็นคุณธรรมสูงสุดของชีวิตคนเรา ที่จะอุทิศความทุกข์ทรมานของตนเองตอบโต้กับความอำมหิตของทรราชย์ เป็นการปลุกสำนึกของผู้คนแม้แต่ถึงขั้นยอมพลีชีพก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างเช่นในเกาหลีใต้ช่วงทศวรรษ 1980 ถึงกับเผาตัวเองประท้วงก็มี

ถัดมาอีกไม่กี่วันระหว่างนั่งล้อมวงกินข้าวมื้อกลางวัน เพนกวิ้นก็หารืออีกครั้งโดยตัดสินใจว่าจะอดอาหารระหว่างที่ถูกคุมขัง โดยกล่าวว่า เป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดจากการใช้มาตรา 112 ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน   หากไม่ได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี เท่ากับเป็น ความ อยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีความหมายไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของพวกเราสี่คนเท่านั้นแต่ยังหมายถึงสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับประชาชนอีกด้วย ในการพูดคุยกันนั้นผมเสนอให้ศูนย์ทนายความได้ยื่นขอการประกันตัวดูไปสักระยะหนึ่งก่อนโดยคาดการณ์น่าจะราวปลายเดือนมีนาคมหลังจากสิ้นสุดการตรวจสอบบัญชีพยานแล้วจึงค่อยมาตัดสินใจว่าจะอดอาหารกันหรือไม่

แต่ทว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ห้องพิจารณาคดี 704 วันนัดพร้อมตรวจบัญชีพยาน ผมได้แถลงต่อศาลว่า พวกเราผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีความพร้อมจะเข้ากระบวนการพิจารณาของศาลได้เพราะถูกคุมขัง ระหว่างที่ผมกำลังแถลงต่อศาลมีเสียงปรบมือเป็นระยะ จนกระทั่งเพนกวิ้นขอแถลงถัดจากผม ระหว่างที่แถลง มีสตรีท่านหนึ่งร้องไห้ปล่อยโหด้วยเสียงดังลั่นออกมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ศาลจึงเข้าไปคุมตัวเพนกวิ้น  แต่ทว่านาทีนั้นปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้งลุกขึ้นมา พูดเป็นภาษาอังกฤษจำได้ประโยคเดียว “ We need Justice “ (เราต้องการความยุติธรรม) พร้อมด้วยน้ำตานองใบหน้า ยืนขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปคุมตัวเพนกวิ้น ทำให้หลายคนในห้องพิจารณาคดีนี้ต่างพากันปล่อยเสียงโฮ สะอึกสะอื้นร้องไห้กันระงมด้วยความขมขื่นใจเป็นอย่างยิ่ง  ผู้พิพากษาทั้งหมดจึงลุกเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป แม้แต่ผมก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ นั่งร้องไห้ขึ้นมาอยู่คนเดียวด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวในหัวใจเสียเหลือเกิน จนกระทั่งเพนกวิ้นแถลงจนจบ กล่าวถึง ความโหดร้ายป่าเถื่อนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การกดขี่และริดรอนสิทธิในการพูดเพื่อความเป็นธรรมของตน พร้อมทั้งประกาศ “อดอาหาร” ไปจนกว่าสถาบันตุลาการจะคืนสิทธิประกันตัวสู้คดีให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน

ผมปาดน้ำตาและพูดกับคนที่นั่งข้างกันด้วยเสียงยังสั่นเครือว่า “นี่คืออนาคตของประเทศไทย  เพนกวิ้นคือ เสียงแห่งอนาคต ประวัติศาสตร์ได้มอบเพชรเม็ดงาม ด้วยหัวใจกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวให้กับประเทศไทยแล้วเพื่อความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

เข้าไปอ่านคำแถลงของพริษฐ์ ชิวรักษ์วันที่ 15 มีนาคม 2563 https://www.facebook.com/paritchi

โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข 24.4.64

โปรดติดตามตอนต่อไป(2) สมุด-ปากกา ของเพนกวิ้นกับเหยื่อโหดของกรมราชทัณฑ์

โปรดติดตามตอนต่อไป(2)