
ตอนที่ 4 : ราชทัณฑ์ ตรวจโควิดตอนตีสอง ขยันทำงานหรือแผนชั่วลวงไปฆ่า
วันที่ 15 มีนาคม 2564ศาลนัดพร้อมตรวจบัญชีพยานฝ่ายโจทก์-จำเลย โดยให้รวมคดีทุกคนเป็นคดีเดียวกัน หลังจากเพนกวิ้นได้แถลงต่อสื่อมวลชน ในวันนี้ผมหลั่งน้ำตาให้กับรุ้งที่ลุกขึ้นมาปกป้องเพนกวิ้นไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าชาร์จตัวจนเพนกวิ้นได้แถลงถึงพิษภัยของมาตรา112 และประกาศอดข้าวเสร็จสิ้น
กลับมาถึงห้องกักกันโรคที่แดน 2 ราว 6 โมงเย็นแล้ว หลังจากผ่านการตรวจคัดกรองตามขั้นตอน คณะของเราขึ้นห้องกักกันโรคทันทีด้วยความเหนื่อยล้าจากการเสียน้ำตามากมาย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก “โตโต้” ปิยะรัฐ จงเทพ ก็เข้ามาที่ห้องกักกันโรคหมายเลข 7 ในเวลาราว 19.15 น. แต่เดิมนั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยปกติแล้วต้องส่งตัวมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่ปรากฏว่า ใผ่- แอมมี่- ไมค์ – โตโต้ กลับถูกส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษธนบุรี อ้างว่าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพหนาแน่น แต่ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ศาลไต่สวนเรื่องนี้มีคำสั่งให้ย้ายจากเรือนจำธนบุรีมาพิเศษกรุงเทพ แต่แอมมี่ประสงค์จะอยู่ที่นั่นต่อ มีเพียง โตโต้- ไผ่-ไมค์ ย้ายมาขังรวมกันพวกเราในวันนี้
การแยกขังกันแบบนี้ แม้กรมราชทัณฑ์มีข้ออ้างอื่น แต่เห็นได้ชัดว่า ส่อเจตนาจะแยกพวกเราให้โดดเดี่ยวต่อกัน ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานมากกว่าปกติขณะเดียวกันทำให้พวกเราไม่มีโอกาสปรึกษาหารือในการต่อสู้คดีได้เลยและเมื่อเราแยกออกจากกันแล้ว โอกาสในการกลั่นแกล้งกดดัน-ทำร้าย-ให้เจ็บป่วย กระทั่งทำให้ คนเหล่านี้เสียชีวิตได้ง่ายทั้งแบบที่ไร้ร่องรอยหรือก่อเหตุให้นักโทษด้วยกันเข้าทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นได้เสมอ
ในห้องขังซึ่งรวมกับนักโทษใหม่คนอื่นๆรวมกันราว 25 คน ทางเรือนจำจะเปิดทีวีชองโมโน 29 เสียงจะดังแสบแก้วหูมาก พวกเรานั่งจับกลุ่มคุยหยอกล้อกัน หรือไม่ก็ปรึกษากันเกี่ยวการต่อสู้คดีมากกว่าจะคุยกันในเรืองการบ้านการเมือง เวลา 21.30 น.เรือนจำจะปิดทีวีเป็นเวลาหลับนอนตามปกติ แต่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 คน เข้ามาสั่งให้ ไมค์, ไผ่ และโตโต้ ไปแยกขังที่เรือนพยาบาลชั้นสอง อ้างว่าไปกักกันโรค เพราะมาจากพื้นที่เสี่ยง แต่พวกเราปฏิเสธจะไปเพราะพวกเขา3คนผ่านการคัดกรองและนำมากักกันโรคในห้องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่มีเหตุอันใดจะถูกแยกไปกักสถานที่อื่นอีก เหตุที่เจ้าหน้าที่แจ้งกับเราดูผิดปกติในเมื่อห้องขังหมายเลข 7 เป็นห้องกักโรคสำหรับคนใหม่ที่ไปศาลกลับมาเรือนจำอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายและชี้แจงด้วยสีหน้าดูจะไม่ค่อยจะเต็มใจในคำอธิบายของตนเองเท่าไรนัก
เวลา ประมาณ 23.45 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 7-8 คนกลับเข้ามาที่ห้องขังอีกครั้ง มาบอกว่าจะนำพวกเราทั้ง 7 คน ไปตรวจโควิด โดยที่นักโทษคนอื่นๆไม่ได้ถูกเรียกไปตรวจด้วย แต่พวกเราปฏิเสธไปโดยแจ้งว่าจะไปตรวจโควิดกันตอนเช้าในเวลาปกติ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงเดินลงไปชั้นล่างเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาให้สั่งการมาอีกครั้ง
พวกเรานักโทษการเมืองทุกคนจึงตกอยู่ในสภาพหวาดวิตกเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผมเป็นเรื่องแปลกประหลาดในอดีตเคยได้ยินว่ามีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น การนำตัวผู้ต้องขังกลางดึกออกไปย่อมหมายถึงอันตรายตั้งแต่อ่อนที่สุดคือ นำตัวไปซ่อมแบบทรมานเช่น ให้ไปกลิ้งตัวที่สนามปูนซีเมนต์ ให้วิ่งลากยางรถยนต์ เอาไปตบกบาล เอาเทียนไขลนไข่ไปจนถึงหายสาบสูญไปเลยก็เคยได้ยินเรื่องเล่าแบบนี้มาก่อน
เวลาราวเที่ยงคืนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในชุดตรวจโควิดสั่งให้นักโทษในห้องทุกคนตรวจโควิด แต่อานนท์ นำภาบอกว่า หากสำลีที่แหย่เข้าไปจมูกเป็นยาสลบหรืออาจมีเชื้อโควิดนั่นหมายถึงชะตาขาดได้ จึงได้แจ้งกลับไปว่าจะขอรับการตรวจโควิดในเวลากลางวันปกติ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คนหนึ่งจึงสั่งให้นักโทษใหม่คนอื่น ๆแยกไปขังอยู่ที่ห้อง 10 โดยไม่สนใจเลยว่า นักโทษเหล่านั้นจะต้องเบียดเสียดกันเพียงใด ส่วนพวกเราก็เหลือกันแค่ 7 คน ในห้องกักกันโรค
คืนนั้นไม่มีใครนอนหลับได้เลย ผมจึงเล่าให้พวกเขาฟังว่า การขังเฉพาะพวกเราแค่ 7 คนนั้นยิ่งอันตรายเข้าไปอีก เพราะจะไม่มีใครได้เห็นได้รับรู้หากมีเรื่องอันตรายเกิดขึ้น ยิ่งสร้างความกังวลให้กับพวกเรามากยิ่งขึ้น การปฏิเสธคำสั่งของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เห็นว่า เป็นนักโทษกระด้างกระเดื่อง สามารถใช้กำลังเข้ามาอุ้มพวกเราออกไปแยกขังกันได้ ส่วนโตโต้ ปิยะรัฐ จงเทพ บอกกับพวกเราว่า เขาจะไม่นอนคืนนี้ หากเกิดอันตรายอะไรขึ้นคงต้องข้ามศพเขาไปก่อน ในฐานะหัวหน้ากลุ่มการ์ด WeVo จะปกป้องพวกเราสุดกำลังชีวิต ผมจึงของีบหลับไปก่อนด้วยการสวดภาวนาขอพระสยามเทวาธิราชให้มาคุ้มครองชีวิตของพวกเราในค่ำคืนนี้
ตอนตีสองครึ่ง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็เข้ามากันอีกโขยงใหญ่ คราวนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ชุดเดิมที่พยายามจะนำตัวพวกเราไปขังที่อื่น ยังมีชายชกรรจ์ในชุดสีน้ำเงินเข้ม แต่งกายเหมือนกับทหารในชุดจู่โจม อีกราว 15 คน มาพร้อมด้วยกระบองและกุญแจมือ ไม่ติดชื่อ-ตำแหน่ง เหมือนเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ สำหรับผมที่เคยอยู่มาก่อนจึงคุ้นเคยหน้าตาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นอย่างดี แต่ชายฉกรรจ์เหล่านี้ ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน จึงเชื่อได้ว่า เป็นบุคคลภายนอกอย่างแน่นอน
ใผ่ ซึ่งมีประสบการณ์เป็นนักโทษที่ขอนแก่นมาก่อน จึงคว้าสมุดและปากกา เดินไปถามชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่เหล่านั้นทั้งหมด แต่ชายฉกรรจ์ในชุดน้ำเงินเข้มไม่ปรากฏชื่อ ยังไม่ยอมบอกว่าเป็นใครมาจากไหน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำที่ผมรู้จักดีคนหนึ่ง ประกาศกับพวกเราว่า การปฏิเสธคำสั่งเจ้าหน้าที่ จะกลายเป็น การกระด้างกระเดื่อง เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังเข้ามาอุ้มไปได้ พวกเราจึงบอกไปว่า ไม่ได้กระด้างกระเดื่องแต่เพราะเหตุที่ เป็นยามวิกาลเช่นนี้เกรงว่าจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในเวลานั้นนักโทษห้องขังอื่นๆตื่นขึ้นมา ต่างเฝ้าดูเหตุการณ์นี้ด้วยความระทึกใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเวลาตีสองกว่า เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งจึงเข้ามาบอกให้กองกำลังชายฉกรรจ์ทั้งหมดลงไปอยู่ชั้นล่างก่อนที่ทั้งหมดจะถอนกำลังกลับออกไปโดยที่ไม่สามารถฉุดกระชากลากถูกพวกเราไปตามความประสงค์ได้ ความกลัวหวาดผวาเกิดกับพวกเราทุกคน อานนท์ นำภา ถึงกับไปหมุนเข้มนาฬิกาบนฝาผนังให้เป็นเวลา 7.00 โมงเช้าแก้เคล็ดเวลาจากยามวิกาลเป็นรุ่งเช้า เป็นการปลอบใจว่า หากถึงอรุณรุ่งเช้าวันนี้แล้ว จะทำให้พวกเรารอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชที่ไม่ยอมปรากฏตัวให้เห็น
ถึงเวลา 7 โมงเช้า อานนท์ นำภา ต้องไปศาลในคดีคนอยากเลือกตั้ง จึงใช้โอกาสนี้ เขียนจดหมายที่มีข้อความตอนท้ายว่า “ เกรงจะเสียชีวิตในเรือนจำ เหมือนหมอหยองและคนอื่นๆ ผมไม่ได้นอนทั้งคืนเพราะเกรงอันตราย ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย “
อานนท์ กลับมาที่ห้องขังจึงได้แจ้งให้พวกเรารับทราบว่า ผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำพิเศษกรุงเทพพยายามที่จะมาแยกขังพวกเราออกจากกันนั้นคือ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในช่วงที่อากงหรือนาย อำพล ตั้งนพคุณ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ปี 2555 และถัดมา สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง เสียชีวิตในปี 2558 ในเวลานั้น กรมราชทัณฑ์ได้ยืนยันมาอย่างต่อเนื่องว่า อาการป่วยของหมอหยองดีขึ้น แต่แล้วก็สิ้นชีวิตลงแบบมีปริศนา เมื่อวันที่ 9 พย. 58
หากดูเหตุการณ์นี้ทั้งหมดแล้วก็จะพบว่า ระดับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์มีความขยันเป็นพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่กับกลุ่มนักโทษการเมืองอย่างพวกเราถึงขนาดมาสั่งการด้วยตนเองในเวลาค่ำคืนตั้งแต่ตอน 3 ทุ่ม จนถึงตีสอง ดูจะผิดวิสัยปกติของการปฏิบัติหน้าที่ราชทัณฑ์ ส่วนการอ้างว่า มาตรวจโควิด ในยามวิกาลเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นเพียงข้ออ้าง เสียมากกว่า สำหรับพวกเรารอดพ้นอันตรายในวันนี้มาได้ ก็ด้วยพลังแห่งความห่วงใยของประชาชนที่ทำให้รอดพ้นไปจากแผนการอันชั่วร้ายของคนที่ประสงค์จะหมายปองเอาชีวิตถึงเป็นถึงตายกันทีเดียว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 8 พค.2564
