
กลุ่มโมกหลวง นำทีมยื่น กสม.สอบนายกมีส่วนเกี่ยวข้องอุ้มฆ่า 9 ผู้เห็นต่างทางการเมือง เชื่อเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องโดยรัฐบาลประยุทธ์
(11 ส.ค.64-13.00น.ศูนย์ราชการ) กลุ่มโมกหลวงนำโดยทานตะวันตัวตุลานนท์ และเจษฎา ศรีปลั่ง กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยพร้อมตัวแทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่าน นายสุชาติ เศรษฐมาลินี และ น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ กสม. ขอให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานความมั่นคงที่อาจเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายผู้ลี้ภัยการเมือง 9 คน รวมทั้งขอให้ผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร ผ่านกฎหมายป้องกันปราบรามการทรมานและการอุ้มหาย ร่างฉบับประชาชน
กลุ่มโมกหลวง 15 คนแต่งกายชุดดำรวมตัวที่ชั้นสอง ตั้งแถวถือรูปผู้ถูกบังคับสูญหาย 9 คน อีกสามคนถือเทียนแท่งใหญ่สงบนิ่ง มีอาเล็กซ์ โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินเพื่อชีวิตร้องเพลงนักสู้ธุลีดิน โดยเจ้าหน้าที่ในอาคารมายืนดู ทั้งหมดเดินขึ้นไปยังชั้น 6 ได้นำของใช้ส่วนตัวของผู้ถูกบังคับสูญหายคือหมวกดาวแดงของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เสื้อยืดของสยาม ธีรวุฒิ รองเท้าผ้าใบของอิทิพล สุขแป้น และเสื้อฮาวายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นำมาแสดง โดยมีการอ่านบทกวีรำลึกถึง 9 คนผู้ถูกบังคับสูญหาย
นส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ระบุว่า การรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้นเหตุของการลี้ภัยการเมืองและการอุ้มหายระหว่างปี 2560-2564 ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยการเมืองที่อยู่ในประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา จำนวน 9 คนคือ 1. นายอิทธิพล สุขแป้น 2. นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 4 .นายชาญชัย บุปผาวัลย์ 5. นายไกรเดช ลือเลิศ 6. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 7. นายกฤษณะ ทัพไทย 8 .นายสยาม ธีรวุฒิและ 9. นายวันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปรากฏหลักฐานเอกสารลับเป็นปฏิบัติการทหาร การแบ่งประเภทบุคคลเป้าหมายที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ซึ่งก็ได้นำมามอบเป็นหลักฐานให้กลับ กสม.ด้วย โดยปัจจุบันครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายและผู้ลี้ภัยการเมืองได้มีการแจ้งความให้มีการสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น แต่ปรากฏว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ การเพิกเฉยละเลยต่อการสอบสวนของตำรวจ ทำให้เชื่อได้ว่าการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทางกลุ่มโมกหลวง จึงขอให้ กสม.ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ต้องสงสัยที่เป็นหน่วยข่าวกรองและปฏิบัติการทางทหาร ว่า จะเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายและคุกคามประชาชนหากเป็นการกระทำโดยรัฐ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องดำเนินคดีเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย และขอให้ กสม.ผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายซึ่งเป็นร่างฉบับประชาชนให้ได้ภายในปี 64 นี้
ทางด้าน น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า เรื่องนี้มีการร้องเรียนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยกคำร้องออกไป ในปีนี้มีหลักฐานเพิ่มเติมเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน กรณีการอุ้มหายเป็นความยากลำบากในการรวบรวมหลักฐาน แต่จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ส่วนการออกพรบ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายนั้น ทางกสม.จะทำหนังสือต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ภาพเครดิต Nattapong Malee สำนักข่าวราษฎร


