บทความ

หายนะภัยโควิดจากการไม่ร่วมโคแวกซ์ (Covax)


หายนะภัยโควิดจากการไม่ร่วมโคแวกซ์ (Covax)
เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ

การแก้ไขปัญหาโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วัคซีนในการควบคุมโรคระบาด เพราะว่าวัคซีนสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านโรคโควิด 19 เป็นการป้องกันการติดโรค หรือสามารถความรุนแรงของอาการไม่ให้ป่วยหนัก หรือเสียชีวิต โดยนายแพทย์ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า การฉีดวัคซีนจำนวนร้อยละ 70 ของประชาชนจะสามารถ   สร้ามภูมิคุ้มกันหมู่รวม (Herd Immunity) เพื่อให้ประชากรทุกคนมีภูมิคุ้นกันโรคโควิด 19

หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 ก็ได้เริ่มมีความพยายามพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อต้านโรคโควิด จนกระทั่งหลายบริษัททั่วโลกสามารถคิดค้นวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายกังวลว่าประเทศร่ำรวยจะกักตุนวัคซีนโควิด 19 ทำให้ประเทศรายได้ปานกลางถึงยากจนเข้าถึงวัคซีนยากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีโครงการ Covax (Covid-19 Vaccines Global Access) ซึ่งก่อตั้งในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 ซึ่งนำโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ที่ก่อตั้งโดยบิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi) เพื่อที่จะสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และจัดส่งวัคซีน COVID-19 ไปในทั่วทุกมุมโลกโดยมีพันธกิจหลักคือ การการแบ่งวัคซีน COVID-19 ที่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศยากจนกับประเทศร่ำรวย เพื่อช่วยให้ประเทศรายได้ปานกลางและยากจนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เป็นธรรมมากขึ้น

โครงการโคแวกซ์ (Covax) เป็นเหมือนตัวกลางที่นำทรัพยากรของประเทศสมาชิกต่าง ๆ มารวมกันเพื่อเพิ่มอำนาจในการซื้อ แทนที่จะต่อรองกับผู้ผลิตวัคซีนเอง และเป็นหลักประกันว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมจะได้เข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ปัจจุบันโครงการโคแวกซ์มีสมาชิกทั้งสิ้น 172 ประเทศโดยทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นไทยเข้าร่วม   โครงการ Covax มีการแบ่งสมาชิกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ ประเทศกลุ่มที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง-ต่ำ (low and middle-low income countries)ถูกจัดแบ่งเป็นประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment: AMC) โดยมีจำนวน 92 ประเทศจะได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินในการซื้อวัคซีน และอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี จะได้วัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 20 ของประชากร อีกประเภทหนึ่งคือประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางด้านการเงิน (Self-Financing Countries: SFP) ประเทศเหล่านี้จะสามารถซื้อวัคซีนได้ในราคาที่สูงกว่าประเทศก่อนหน้า โดยมีสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือสัญญาการซื้อแบบผูกมัดไม่สามารถเลือกผู้ผลิตเองโดยต้องเสียเงินจอง 1.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัคซีนหนึ่งโดสหรือ 3.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อประชากรหนึ่งคน และต้องวางหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 8.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส โดยจะได้รับวัคซีนในปริมาณที่คำนวณจากราคาจริงที่ตกลงกับผู้ผลิต อีกเงื่อนไขหนึ่งคือจองซื้อแบบเลือกประเทศผู้ผลิตในราคา 3.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ไม่ต้องวางหนังสือค้ำประกันอย่างแบบแรก อย่างไรก็ตามอาจมีการขึ้นราคาเพิ่มเติมจากการจองไว้

โครงการนี้ตั้งเป้าว่าจะเริ่มจัดส่งวัคซีนในเดือน ก.พ. 2021 โดยประเทศที่มีฐานะระดับยากจนและปานกลางจะได้รับวัคซีน พวกเขาหวังว่าถึงปลายปี 2021 จะจัดส่งวัคซีนไปทั่วโลกให้ได้ 2 พันล้านโดส จากวัคซีนที่มีทั้งหมด วัคซีนจำนวน 1.8 พันล้านโดสจะถูกส่งไปยัง  92 ประเทศยากจนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเข้าถึงประชากรในประเทศเหล่านั้นราว 20% โคแวกซ์เรี่ยไรเงินได้แล้ว 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ต้องการอีก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงจะทำตามเป้าที่วางไว้สำหรับปี 2021 ได้

 จากที่เห็นสมาชิกของโครงการโคแวกซ์ที่มีสมาชิกทั่วโลกถึง 172 ประเทศ โครงการโคแวกซ์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนได้ เนื่องจากโครงการไม่ได้ห้ามประเทศสมาชิกทำสนธิสัญญาทวิภาคีกับบริษัทโดยตรง อย่างไรก็ตามประเทศไทยที่มีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยมีความจำเป็นต้องหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อยคือ 100 ล้านโดส หรือร้อยละ 70 ของประชากรของประเทศ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า “กรณีที่ประเทศไทยไม่ร่วมโครงการวัคซีนของโคแวกซ์นั้น เราได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่เราไม่อยู่เกณฑ์ที่เขาจะให้ฟรี โคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง หากเราจะร่วมกับโคแวกซ์ เราต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนเมื่อไร การที่เราจัดหาเองและได้วัคซีนที่เหมาะสมกับการใช้ มีเงื่อนไขด้านราคาและเวลาที่ชัดเจนกว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า”

นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งโดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคอ้างว่าในระยะแรกไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงจึงไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรี ไทยต้องนำเงินไปร่วมลงขันกับโคแวกซ์ในการจัดหาวัคซีน ขณะที่ตอนนั้นการพัฒนาวัคซีนยังมีความคืบหน้าไม่มาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะเอางบประมาณไปลงตรงนั้น เหตุไม่เข้าร่วมโคแวกซ์เพราะไทยมีรายได้ปานกลาง หากร่วมเสี่ยงได้วัคซีนช้าราคาสูงและต่อรองไม่ได้

 กล่าวโดยสรุปสำหรับเหตุผลที่รัฐบาลไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) มีดังนี้ 1) มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ 2) ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 3) ไม่มีอิสระในการเลือกวัคซีน 4) ต้องซื้อวัคซีนตามราคาจริงของผู้ผลิต ไม่มีอำนาจต่อรอง 5)ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งอาจมากกว่าที่ระบุ เช่น ค่าขนส่ง

 อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute Foundation หรือ TDRI) ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การตัดสินไม่เข้าร่วมโครงการCovax ที่แม้อาจจะได้วัคซีนไม่มาก แต่ก็น่าจะช่วยให้ได้วัคซีนเพิ่มเติมมาก่อนบางส่วน การตัดสินใจนโยบายดังกล่าวจึงมีปัญหามาก เพราะการเลือกซื้อวัคซีนจากโคแวกซ์ถือเป็นการบริหารความเสี่ยง (risk management) โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอเลือกใช้วัคซีนเพียงไม่กี่ชนิด หวังพึ่งจากบริษัทเดียวคือแอสตราเซเนกาที่ร่วมผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ 61 ล้านโดสซึ่งเป็นสักส่วนถึงร้อยละ 90 ของแผนวัคซีนในระยะแรกของรัฐบาลโดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส แต่บริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าทำให้ปัจจุบันไทยมีวัคซีนจากแอสตราเซเนกาเพียง 11.3 ล้านโดสทำให้เป้าหมายที่รัฐบาลคาดว่าจะได้วัคซีน 61 ล้านโดสจึงไม่สามารถเป็นไปได้ การพึ่งวัคซีนแค่บริษัทเดียวจึงเป็นการไม่ยอมประมาทร้ายแรงของรัฐบาล วัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่รัฐบาลเลือกคือซิโนแวคที่จัดซื้อไป 2 ล้านโดส ดังนั้นผลจากการเลือกวัคซีนไม่กี่ชนิดของรัฐบาล และการไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงทำให้ในปัจจุบันรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรวัคซีนได้ให้กับประชาชนอย่างเพียงพอที่จะป้องกันโควิด-19สายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์เดลตา (Delta) เนื่องจากรัฐบาลเลือกที่จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่

การระบาดระลอกใหม่ทำให้รัฐบาลต้องเลือกใช้นโยบายล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมาย จากการประเมินของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์รับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2564 ลงจากเดิม 1.9% มาอยู่ที่ 0.9% ฉุดการบริโภคเอกชนเสียหายกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือ 4.8% ของจีดีพี การระบาดหนักจากการไม่มีวัคซีนที่เพียงพอทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากมายทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้การระบาดครั้งใหม่ยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุขมากมาย บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้นจากการรักษาผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น ประชาชนหลายคนต้องรอเตียงเพราะว่าโรงพยายามไม่สามารถจัดสรรเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอกับผู้ป่วย ประชาชนต้องล้มตายมากมายเป็นจำนวน 6,358 คนจากความผิดพลาดในการไม่ยอมกระจายความเสี่ยงในการจัดสรรวัคซีน

 การไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ไม่เพียงแต่เป็นการประมาทของรัฐบาลที่ไม่ยอมบริหารความเสี่ยง แต่ในส่วนของข้ออ้างของรัฐบาลที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงโดยสามารถอภิปรายได้ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก รัฐบาลอ้างว่าไม่มีอิสระในการเลือกวัคซีน อย่างไรก็ตามในโครงการโคแวกซ์มีสัญญา 2 รูปแบบดังที่ได้อภิปรายไว้ข้างต้นว่าสามารถเลือกซื้อโดยตรงจากบริษัทได้ แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ประการที่สอง รัฐบาลอ้างว่าต้องซื้อวัคซีนตามราคาจริงของผู้ผลิต ไม่มีอำนาจต่อรอง อย่างไรก็ตามข้อมูลส่วนนี้เป็นเพียงความคิดเห็น เนื่องจากโครงการโคแวกซ์เป็นตัวแทนประเทศสมาชิก มีอำนาจต่อรองสูง อีกทั้งเป้าหมายของโคแวกซ์คือการมุ่งช่วยประเทศกำลังพัฒนาราคาจึงไม่อาจเป็นไปตามความเห็นของรัฐบาล  นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง-สูง จากข้อมูลยอดสั่งซื้อในวันที่ 13 มิถุนายน 2564 ประเทศเหล่านี้เลือกใช้วัคซีนจากโครงการโคแวกซ์เพื่อบริหารความเสี่ยง ได้แก่ 1) มาเลเซีย มีสัดส่วนของวัคซีนจากโคแวกซ์จำนวนร้อยละ 16.9  2) บูรไน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 66.4 3) สิงคโปร์ที่พึ่งได้รับวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ไป สิงคโปร์ 288,000 โดส ดังนั้นจะเห็นได้ว่าข้ออ้างที่รัฐบาลไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ไม่สมเหตุสมผล ไม่ยอมบริหารความเสี่ยงให้ได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล

อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2564). เร่งจัดหา ‘วัคซีนโควิด-19’ หลัง แอสตร้าฯ 61 ล้านโดส เลื่อนส่ง พ.ค. ปีหน้า. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/949188

ข่าวสด. (2564). ทีดีอาร์ไอ : รัฐบาลประยุทธ์ 2 บริหารวัคซีนพลาด ต้องมีคนรับผิดชอบ. สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_6505925

ไทยพีบีเอส. (2564). เจาะกลไก COVAX กุญแจลดความเหลื่อมล้ำ?  สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/306335

ไทยรัฐออนไลน์. (2564). COVAX คืออะไร ไทยเข้าร่วมโครงการวัคซีนระดับโลกนี้หรือไม่.  สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2022987

บีบีซีไทย. (2564). วัคซีนโควิด: โครงการโคแวกซ์ (Covax) ที่จะจัดวัคซีนให้กว่า 180 ประเทศคืออะไร ทำไมไทยไม่เข้าร่วม.   สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-55879187

ประชาชาติธุรกิจ. (2564). อีไอซี ชี้พิษโควิด-ล็อกดาวน์เข้มกระทบการบริโภคเสียหายกว่า 7.7 แสนล้าน   สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/finance/news-721286

สฤณี อาชวานันทกุล. (2564). มหากาพย์วัคซีน (1): ความเข้าใจผิดเรื่อง ‘ม้าเต็ง’ และโครงการ COVAX.   สืบค้นจาก https://themomentum.co/citizen2-0-covax/

Gavi The Vacine Aliance. (2021). 92 low- and middle-income economies eligible to get access to COVID-19    

vaccines through Gavi COVAX AMC. From https://www.gavi.org/news/media-room/92-low-middle-income-economies-eligible-access-covid-19-vaccines-gavi-covax-amc

World Health Organization. (2021). COVAX Working for global equitable access to COVID-19 vaccines.

                        From https://www.who.int/initiatives/act-accelerator/covax


10 ปีที่ผ่านไปกับเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง 

มีเรื่องเล่าที่อยากเล่าให้ฟังในปี 2553 แต่ไม่มีโอกาสเล่าสู่ให้ฟังผ่านมาถึง 10 ปี ขนาดอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ช่วยรวบรวมบันทึกนี้และตั้งใจจะจัดพิมพ์ออกมาให้อ่านกันในช่วงที่ผมถูกจองจำ ก็สิ้นชีวิตไปเสียก่อน บันทึกนี้จึงล่องหนไป แต่แล้วบันทึกนี้ก็กลับมาถึงมือผมอีกครั้งอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ผม จึงตัดสินใจนำมาทำเป็นหนังสือเล่ม ไม่ใช่เพื่อให้ผมมีลมหายใจต่อไปในยุคเศรษฐกิจลำเค็ญเท่านั้น แต่ทว่า บันทึกนี้จะเป็นการตอกย้ำอุดมคติของนักต่อสู้สำหรับทุกคนที่ถูกจองจำและสิ้นชีวิตไปด้วยปรารถนาเสรีภาพ-ประชาธิปไตย


สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 170.00 บาท ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0  ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com  หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005