
คณะราษฎรยกเลิก 112 ร้องอัยการสูงสุด ขอให้ศาล รธน. ตรวจสอบคำวินิจฉัยคดีชุมนุม 10 สิงหา63 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
(9 ธ.ค.64 11.00 น.) คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.) นำโดย นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เข้ายื่นหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า คำวินิจฉัยที่ 19/2564 ที่ระบุว่า การปราศรัยเกี่ยวกับ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันที่ 10 ส.ค.63 ของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎร ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายอรรถพล กล่าวว่า เป้าประสงค์ของการมายื่นหนังสือ ไม่ได้ต้องการให้มีคำวินิจฉัยใหม่ แต่ขอให้วินิจฉัยว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ เนื่องจากภายหลังมีการนำคำวินิจฉัยไปขยายผลใช้อย่างกว้างขวาง เช่น การทำลายพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม การปิดกั้นสื่อไม่ให้นำเสนอข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมมากขึ้น หรือกระทบสิทธิประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย
และหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครอบคลุมไปถึงการเข้าชื่อยกเลิก มาตรา 112 โดยภาคประชาชน จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า ต่อจากนี้หากจะแก้กฎหมายใดต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้กฎหมายได้
นายอรรถพล บอกว่า คำปราศรัยของแกนนำเป็นเพียงข้อเสนอ จึงไม่สามารถที่จะเข้าใกล้คำว่า ล้มล้างการปกครองได้ ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสะท้อนแล้วว่า ได้เซาะกร่อนทำลายสิทธิของประชาชน การล้มล้างการปกครองจะต้องมีเจตนาที่ทำให้รูปแบบการปกครองเดิมเปลี่ยนไป ย้ำว่าคำปราศรัยของทั้ง 3 แกนนำ ไม่ได้มีเจตนาให้รูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครองเปลี่ยนแปลงไป
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขกล่าวว่า ประเด็นหนึ่งในคำร้องก็คือ การรัฐประหาร2557 สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง เป็นการล้มล้างการปกครองที่ชัดเจนที่สุด แต่ไม่มีการวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ในขณะที่แกนนำราษฎรทั้งสามคนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตด้วยความปรารนาดีต่อบ้านเมือง จึงเสนอการปฏิรูปสถาบันกษํตริย์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ประยุทธ์ ลาออก การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง แต่กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครอง เท่ากับเป็นการลบล้างเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นรากฐานระบอบประชาธิปไตย การวินิจฉัยที่กลับหัวกลับหางเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงเจตนาเล็งเห็นผล เมื่อดูที่มาของศาลรัฐธรรมนูญจึงรู้ว่ามาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จึงถือได้ว่ามีส่วนได้เสียกับคณะรัฐประหารที่ล้มล้างการปกครอง จึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนาซ่อนเร้นในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งได้ล้มล้างการปกครองมาก่อน นอกจากนี้แล้วจะมีการฟ้องร้องต่อศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบในเดือนธันวาคมนี้อีกด้วย
พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมการชุมนุมใหญ่เพื่อปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกมาตรา 112วันที่ 12 ธันวาคม 2564
คำร้องฉบับเต็ม
คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.)
46/428 ม.ริมสวน ถนนประชาอุทิศ 12 ดอนเมือง กรุงเทพ 10210 โทร. 065-557-5005
วันที่ 9 ธันวาคม 2564
เรื่อง ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49
เรียน อัยการสูงสุด
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีชั้นสาม ศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ นานครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นานนดล เทพพิทักษ์ และนายบรรจงศักดิ์ วงปราชญ์ ได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 อันปรากฏข้อความเผยแพร่ต่อสาธารณชน ว่า
“ผู้ถูกร้องทั้งสามประกอบไปด้วย นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงษ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 วรรคสอง”
ต่อมาได้มีคำวินิจฉัยฉบับเต็มประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 138 ตอนที่ 80ก หน้า 22 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าว มีนักวิชาการ นักกฎหมายจำนวนมาก แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัย กระบวนการไต่สวนที่ไม่ได้รับฟังพยานหลักฐานจากผู้ถูกร้องอย่างเพียงพอ และเนื้อหาคำวินิจฉัยที่อาจถูกฉวยโอกาสนำไปเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยผลของคำวินิจฉัยนี้อาจกระทบต่อหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อันเป็นหัวใจของการปกครองประชาธิปไตย ดังปรากฏได้ว่า มีการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. นายณฐพร โตประยูร ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ว่าจากคำวินิจฉัยดังกล่าวจะทำให้ตนสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้เอาผิดและดำเนินการยุบพรรคก้าวไกลได้ หลังเคยได้ยื่นคำร้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งการยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นการสั่นคลอนต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย หากพรรคการเมืองถูกยุบได้จากการที่ยืนยันถึงความถูกต้องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยผ่านการรับฟังเสียงของประชาชนแล้ว การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่สามารถมีขึ้นได้
2. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ หารือตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อทำความเข้าใจต่อการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะในประเด็นที่มีข้อกฎหมายต่างๆ เช่น ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อผู้ถูกร้อง 3 ราย ที่เป็นแกนนำชุมนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์ กรณีปราศรัยถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดย กสทช. ขอความร่วมมือสื่อมวลชนแต่ละสำนัก หลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหา 10 ข้อเรียกร้องของแกนนำการชุมนุมที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีความว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เป็นการกระทำผิดกฎหมาย และการเผยแพร่ข่าวนั้นอาจจะเป็นการกระทำซ้ำ
หลักสิทธิมนุษยชนกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด ไม่มีใครสามารถมาพรากเอาออกไปจากตัวเราได้และการแสดงความคิดเห็นยังถูกรับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะพูดหรือแสดงออกในสิ่งที่ตนเองคิดได้อย่างอิสระ เสรี การปิดกั้นการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น การกระทำของ กสทช. ดังกล่าวแม้จะเป็นการหารือและขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหา 10 ข้อ เพราะอาจผิดกฎหมายนั้นได้ปิดโอกาสที่จะทำให้มนุษย์สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระและเสรี นอกจากเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพสื่อมวลชนจนนำมาสู่การเซ็นเซอร์ตนเองในการนำเสนอข่าวสารแล้ว ก็ยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมากอีกด้วย
ดังนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ในกรณีการแสดงความคิดเห็นเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จึงเป็นการล้มล้างต่อเสรีภาพของประชาชนเป็นการบ่อนเซาะบ่อนทำลาย และด้อยค่าต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยโดยตรง
3. ข้อความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่า
“เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์” ข้อความที่ขัดแย้งโดยตรงกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 ที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
เนื้อหาส่วนดังกล่าวนี้ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ตามมาตรา 1 แห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ข้อความส่วนนี้ของศาลรัฐธรรมนูญนอกจากจะไม่ต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว ยังเป็นการแสดงความพยายามในการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นการปกครองที่อำนาจสูงสุดจะต้องเป็นของประชาชนอีกด้วย
4. ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ยังเป็นคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ถึง 3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งที่เกินไปกว่าที่ข้อความตามมาตรา 49 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้” ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า การวินิจฉัยสั่งการได้เฉพาะการกระทำที่แน่นอนตามคำร้องเท่านั้น ย่อมไม่อาจผูกพันต่ออนาคตหรือบุคคลอื่นนอกเหนือไปที่ถูกร้อง การออกคำสั่งวินิจฉัยที่เกินไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้นนอกจากไม่เป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมเป็นการเล็งเห็นผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน เท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
5. ด้วยปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้กำลังทหาร ตำรวจ พร้อมอาวุธ ในนามของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่คณะผู้ก่อการ การใช้กำลังทหารตำรวจและอาวุธเข้าลบล้างการปกครอง การออกคำสั่งเผด็จการเป็นกฎหมาย โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องสูญสิ้นไป เป็นผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐประหารได้เข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ มากมาย การกระทำของ คสช. เป็นการล้มล้างการปกครองที่สร้างความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยเป็นอย่างมาก แต่การล้มล้างการปกครองที่ประจักษ์ชัดเจนเช่นนี้กลับไม่มีการวินิจฉัยหรือออกคำสั่งให้เลิกการกระทำ
ในขณะที่ผู้ถูกร้องทั้งสามคนได้ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฏิรูปกษัตริย์ให้มีสถานภาพและบทบาทตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ปรากฏมีข้อความอันใดเป็นการล้มล้างการปกครอง ทั้งตลอดมาบรรดาผู้ร้องได้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้มีการใช้กำลังเข้าขู่เข็ญหรือบังคับให้ประชาชนเข้าล้มล้างการปกครอง และไม่ปรากฏผลอันใดต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ผู้ถูกร้องทั้งสามคนได้แสดงความคิดเห็นด้วยเจตนาสุจริตเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง และปฏิรูปการเมือง ตามหน้าที่พลเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แสวงอำนาจหรือได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมืองการปกครอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดหรือเป็นการล้มล้างการปกครองแต่ประการใด
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 23/2560 เพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และถึงแม้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา แต่สมาชิกวุฒิสภาเองก็ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมาด้วยเช่นกัน การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียจากการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 และการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าผู้ถูกร้อง 1 ถึง 3 มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งยังเป็นการพยายามกล่าวเท็จเพื่อให้การล้มล้างการปกครองของคณะรัฐประหารสามารถสืบทอดอำนาจได้ต่อไป อันเป็นการทำให้คณะบุคคลที่มีกำลังหทารและอาวุธทำการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยได้โดยชอบแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
6. ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยว่า
“การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ประการของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ”
การเลือกประเด็นดังกล่าวมาเป็นเหตุผลประกอบการกำหนดผลคำวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะการเลือกประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่อง “การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ” ดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ปรากฏความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยประเด็นข้างต้นมิได้อยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด
7. การให้เหตุผลในคำวินิจฉัยว่า
“การกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆเพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์”
การให้เหตุผลดังกล่าวย่อมเป็นการให้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิได้ขึ้นอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะถูกล้มล้างได้นั้น ต้องมีการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ซึ่ง อำนาจการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ด้วย เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ให้เหตุผลว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำเพื่อทำลายหรือทำให้อำนาจการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถูกทำลายหรือสิ้นสลายไป อย่างไร หรือถูกบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลงอย่างไร การที่ศาลรัฐธรรมนูญ นำเหตุผลเกี่ยวกับ การมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มาใช้เพื่อวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเป็นปฏิปักษ์ บ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ซึ่งหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยนำระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมิใช่ระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมแสดงให้เห็นถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การใช้สิทธิหรือเสรีภาพขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยโดยคำนึงถึงระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ไม่คำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ผลของการกระทำโดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการนำเหตุผลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ในการทำคำวินิจฉัยการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด และเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสุู่การปกครองระบอบอื่น ที่ประชาชนมิได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพกระทำการมีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประกอบด้วยหลักการประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั้น หมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป
8. การให้เหตุผลในคำวินิจฉัยว่า
“การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มี… และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ …. เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควรโดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”
การให้เหตุผลดังกล่าว ย่อมเป็นการให้เหตุผลที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” โดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น
กฎหมายสูงสุด ไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ใช้อำนาจนิติบัญญัติอันเป็นอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทกฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 255 บัญญัติว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้” เท่านั้น กล่าวคือแม้แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ก็มิได้ห้ามไม่ให้องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติกระทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องการหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบเท่าที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
หรืออีกนัยหนึ่ง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องการหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นอำนาจของประชาชนที่จะใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้เกิดการแก้ไขโดยองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ ตลอดจนไม่มีกฎหมายห้ามการใช้เสรีภาพในการเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องการหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์
9. การให้เหตุผลในการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1ในการทำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564
การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีการให้เหตุผลในการวินิจฉัย และกำหนดผลแห่งคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของตุลาการแต่ละบุคคลในการเลือกว่าจะให้เหตุผลอย่างไรเพื่อประกอบคำวินิจฉัย และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการกำหนดผลแห่งคำวินิจฉัยว่าจะกำหนดผลอย่างไร เพื่อทำคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นหนังสือและแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นปรึกษาหารือลงมติ ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา โดยที่ไม่มีการบังคับว่าตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะ จะต้องมีหน้าที่ให้เหตุผลในการวินิจฉัยและกำหนดผลแห่งคำวินิจฉัยให้ออกมาอย่างไร แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะให้เหตุผลในการวินิจฉัยและกำหนดผลแห่งคำวินิจฉัยอย่างไร และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นปรึกษาหารือลงมติ ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ว่าจะแสดงความเห็น ปรึกษาหารือ ลงมติ อย่างไร
ดังนั้น การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ของคณะบุคคล ซึ่งอาจมีการกระทำการที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ได้
10. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้กระทำการที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้ จึงขัดต่อ มาตรา 2 และ มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เสียเอง เนื่องจากตามมาตรา 49 มีความมุ่งหมายคือเป็นเกราะคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดกลไกในการดำเนินการในกรณีมีการกระทำอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงจนทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถมั่นคงอยาได้
เมื่อพิจารณาถึงการนำประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นการนำเสนอข้อเสนอของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หรือของผู้ชุมนุม ซึ่งยังเป็นเพียงข้อเสนอ นั้น ข้อเสนอต่าง ๆ ไม่สามารถล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองได้ เนื่องจาก การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้น คือระบอบที่ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มีพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านองค์กรทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การจะล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมีพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านองค์กรทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ย่อมต้องเป็นกรณีมีการกระทำที่ไปเปลี่ยนแปลง การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่มีมีพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านองค์กรทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยเมื่อเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่วินิจฉัยการกระทำ ในระดับที่ใกล้ต่อผล อย่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …. ที่มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 ซึ่งแม้จะไปถึงขั้นตอนผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่สอง และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่สาม อันเป็นการดำเนินการขององค์กรทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติแล้วนั้น นอกจากนี้ ก็ยังเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการใช้สิทธิหรือเสรีภาพให้เหตุผลในการทำคำวินิจฉัย และกำหนดผลคำวินิจฉัย ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้ง ๆ ที่ ในการสรุปข้อเท็จจริงในการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วน การใช้สิทธิหรือเสรีภาพกระทำการ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาพิจารณานั้น มีแต่การระบุว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำเสนอข้อเรียกร้อง มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย มีการปราศรัย มีการร่วมชุมนุม มีการพูด การเขียน การด่าทอ ต่าง ๆ นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ให้เหตุผลในการทำคำวินิจฉัย และกำหนดผลคำวินิจฉัย อันเป็นการขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 โดยเป็นการบ่อนทำลาย ทำให้ด้อยค่า ซึ่ง สิทธิหรือเสรีภาพ ของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้วยเหตุนี้ เรียนมายังอัยการสูงสุดให้พิจารณาตามข้อเท็จจริงว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ทั้ง 9 คน ได้ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยเหตุผลทั้งสิบประการที่กล่าวมาแล้ว และให้ทำการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกคำวินิจฉัยการกระทำดังกล่าว
ขอแสดงความนับถือ
นายอรรถพล บัวพัฒน์
คณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112
