
คณะราษฎรเรือนหมื่น แน่นแยกราษฎรประสงค์ พิพากษา ปล่อยนักโทษการเมือง-ยกเลิกมาตรา 112
คณะราษฎร มาตามนัด ชุมนุมสำแดงพลัง ตอบโต้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมคุมขังและให้ยกเลิกมาตรา 112 ประกาศเดินหน้ารายชื่อประชาชนให้ถึงหนึ่งล้านชื่อ เรียกร้องให้พรรคการเมืองบรรจุนโยบาย เสรีภาพ และ ยุติธรรม เป็นวาระแห่งชาติ
การชุมนุมคณะราษฎรเริ่มเมื่อเวลา 16.30 น. นำโดย กลุ่มราษฎร์ดรัม จำนวน 15 คน กระหน่ำเสียงกลองพร้อมด้วยเสียงแตร เสียงเคาะชาม กระทะ วรรณวลี ธรรมสัตยาหรือตี้พะเยาว์ ขึ้นเวทีนำเสียงโห่ร้องดังกึกก้องบนท้องถนน ระหว่างนี้ปรากฏว่า มีตำรวจ สน.ลุมพินี่ ขึ้นไปปลดป้ายผ้าข้อความ ราษฎรพิพากษายกเลิกมาตรา 112 บนสะพานข้ามถนน และยึดป้ายผ้าไปจำนวน 4 ผืนด้วยกันทำให้คณะราษฎร์ดรัม และผู้ชุมนุมโห่ร้องตำรวจด้วยความโกรธแค้น แต่ไม่ปรากฏมีเหตุรุนแรง โดยแกนนำผู้จัดงาน ปล่อยให้ตำรวจยึดแผ่นป้ายไป
เวลา 17.00 -18.00 น. พริม มณีโชติ พิธีกรดำเนินรายการเสวนาวิชาการเรื่อง ราษฎรพิพากษามาตรา 112 โดยมีอาจารย์ อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์วิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ต่อ 3 แกนนำกลุ่มราษฎร ไม่มีความน่าสนใจหรือมีคุณค่าทางกฎหมายมากนัก การตัดสินแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ใครเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่ากัน ถ้าใช้เกณฑ์แบบนี้ ทำให้การไปแตะต้องสถาบันเท่ากับล้มล้าง
น.ส.คอรีเยาะ มานุแช ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การใช้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่อยากเรียกว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน แต่เป็นการใช้กฎหมายเพื่อตบปากประชาชน ไม่ใช่แค่ปิดปากไม่ให้พูด แต่เอากฎหมายมาตบปากนำประชาชนเข้าคุก เป็นการดำเนินคดีทางยุทธศาสตร์ ปิดกั้นประชาชนไม่ให้แสดงออก ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หากเป็นต่างประเทศถือว่าผิดกฎหมายที่ใช้เครื่องมือคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน.
นายอนุลักษณ์ กุลสิงห์ กล่าวว่า สถาบันแม้จะอยู่กับสังคมมานาน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง มาถึงยุคนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ สถาบันเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมาก มีการอ้างสถาบันเพื่อจะทำอะไรบางอย่าง ที่ต้องยกเลิก 112 เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสถาบัน ปิดกั้นจินตนาการและความคิด มีการใช้กฎหมายนี้ ปราบปรามประชาชน เพื่อนเราหลายคนต้องติดคุก มีอัตราโทษที่สูงทั้งที่เป็นแค่การหมิ่นประมาท สถาบันแม้แต่ศาล ก็ไม่อาจเรียกตัวมาสู้คดีได้ ทำให้ประชาชนเสียเปรียบในการต่อสู้คดีอย่างมาก ถ้าไม่ยกเลิกตอนนี้ จะไปยกเลิกตอนไหน มาตรานี้ สมควรยกเลิก
หลังการเสวนา เป็นการปราศรัยประกอบไปด้วย ธนพัฒน์ กาเพ็ง ธนพร วิจันทร์ เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และ อรรถพล บัวพัฒน์ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ปล่อยนักทาการเมือง ทั้งนี้อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ พรรคก้าวล่วงได้ประกาศว่า ในกลางเดือนมกราคม 2565 คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.)จะมีการเคลื่อนขบวนใหญ่ในภาคอีสาน ถนนมิตรภาพจะเนืองแน่นด้วยผู้คนที่ออกมาต่อสู้ให้ยกเลิกมาตรา112และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในเวลา 20.00 น.แกนนำ คณะราษฎรกว่า 20 คนขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์โดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ว่า ได้รายชื่อทะลุเป้าหมายถึง 230000 คนและจะเดินหน้าให้ถึง 1 ล้านชื่อ พร้อมทั้งประกาศเป็นมติของผ็มาชุมนุม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย จากที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 2557 ให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ
ในตอนท้ายเป็นรายการแสดงศิลปะคณะ aren’ t และวงดนตรีสามัญชนแสดงจนถึงเวลา 21.00 น.จึงได้ยุติการชุมนุม โดยมีกลุ่มทะลุแก๊สใช้มอเตอร์ไซค์เดินทางต่อไปที่ถนนราชปรารถ แต่ไม่ปรากฏ มีเหตุการณ์ปะทะกันแต่อย่างไร

