ข่าว

ประชาชนเรียกร้องยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน เหตุมาจากรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพประชาชน


เครดิตภาพ : สำนักข่าวราษฎร 26.1.65

ประชาชนเรียกร้องยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน เหตุมาจากรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพประชาชน

(20 มกราคม 2565) รัฐบาลขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ออกไปอีก 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. – 31 มี.ค.2565 ในขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินควบคุมการแรพ่ระบาดของโควิดมากว่า 2 ปีแล้วนั้น มีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน 603 คดี เป็นจำนวน 1415 คน (11.1.65) ซึ่งทั้งหมดเป็นประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมในการร้องเรียนต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า การชุมนุมของพวกเขาจะมีการแพร่ระบาดของโควิด ดังนั้นการที่รัฐบาลใช้พรก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาเป็นการแอบอ้างเรื่องโควิดเพื่อทำลายการใช้สิทธิเสรีภาพในการร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพิทยา จินาวัฒน์ และนายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประจำปี 2564  ว่าการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) เพื่อจัดการและควบคุมการชุมนุมของรัฐบาล มีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะ (การป้องกันภัยทางสาธารณสุข) นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมและดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และกฎหมายอื่น ซึ่งถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม  แต่การแถลงข่าวดังกล่าวไม่ได้เกิดผลต่อการยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลแม้แต่น้อย รัฐบาลกลับใช้พรก.ฉุกเฉินนี้กำหราบปราบปรามประชาชนทีทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ผู้ใช้แรงงานบริษัทบลิลเลี่ยนอัลไลแอนซ์ไทยโกลบอล 300 คนได้มาร้องเรียนรัฐบาลกรณีถูกเลิกจ้างไม่ได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 แต่รัฐบาลอ้างพรก.ฉุกเฉินดำเนินคดีแกนนำ 6 คน โดยที่ทั้ง6 คนได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน2564แล้ว แต่ ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่ประการใด

ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 15 คน มายื่นหนังสือต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่หน้าสำนักงาน UN ถนนราชดำเนินนอก ระบุว่ารัฐบาลประยุทธ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน 7 ประเด็นด้วยกันอาทิเช่น การอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัย การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม การใช้มาตรา 112 ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น  แต่ตำรวจสน.นางเลิ้งโดยพ.ต.ท.สำเนียง โสธร กลับดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน ต่อ แกนนำ 6 คน คือ เจษฎา ศรีปลั่ง วรรณวลี ธรรมสัตยา ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพลง ทัพมาลัย และสมยศ พฤกษาเกษมสุข

วันที่ 26 มกราคม 2565 กลุ่ม People Go NetWork นำชาวบ้านจะนะ จ.สงขลา กว่า 100 คน เดินขบวนจากหน้าหอศิลป์มาชุมนุมที่หน้าสน.ปทุมวัน เรียกร้องให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ด้วยคำขวัญว่า “หยุดอ้างโควิด ปิดปากประชาชน” จากการที่ตำรวจออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาจากการจัดงานวันที่ 10 ธ.ค.64  ที่ลานหน้าหอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดการชุมนุมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อว่า “ราษฎร์ธรรมนูญ”  นายนิมิตร์ เทียนอุดม แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า รัฐบาลใช้ พรก.ฉุกเฉิน เป็นการกดทับเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดแต่อย่างใด

ทั้งนี้นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้งเสร็จว่า ในวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา  10.00 น. ณ อาคาร A (อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์)ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ  คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จะเดินหน้าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอเชิญทุกท่านมาร่วมพิสูจน์กันอีกครั้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงทำหน้าที่ในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยมากน้อยแค่ไหน หรือเลือกรักษากฎหมายนี้ไว้เพื่อรักษาอำนาจอันเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และไร้หลักเกณฑ์ของรัฐ  ในวันที่ 31 มกราคม 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะได้นำกรณีสน.นางเลิ้ง ดำเนินคดีแกนนำกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย 6 คน ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เวลา 13.00 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคาร  B ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ  และจะได้ ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกันต่อไป  ( 26.1.65 )

แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 6 คนรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน จากการที่ได้ร้องเรียนต่อ UN เรื่องรัฐบาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่สน.นางเลิ้ง วันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 13.00 น.

เพลง ทัพมาลัย นายกองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
เครดิตภาพ : สำนักข่าวราษฎร 26.1.65