
ราษฎรร้องกสม.ตรวจสอบตำรวจละเมิดสิทธิประชาชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากกรณีที่ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่ารัฐบาลประยุทธ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ อันเป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติ แต่กลับถูกตำรวจสน.นางเลิ้งใช้พรก.ฉุกเฉิน ดำเนินคดีกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 6 คน ด้วยกัน
นส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์กล่าวว่า ตนไปที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติพูดถึงการใช้มาตรา 112 ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นประชาชน เพราะวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล จึงไปร้องเรียนในวันนี้ โดยตำรวจใช้พรก.แบบเหวี่ยงแหกับตนเองซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพรก.มากว่าสิบคดีด้วยกันจนจำไม่ได้ ส่วน นส.เพลง ทัพมาลัย นิสิตรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงว่า ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนทุกปีอยู่แล้วในวันที่ 10 ธันวาคม2564 ไปพูดเพียงขั้นตอนว่าจะมีตัวแทน UN มารับหนังสือและจะไปยื่นตรงหน้าประตูสำนักงานสหประชาชาติ
นางศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่า กสม.จะเร่งรัดดำเนินการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจะประสานงานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะกสม.เคยทำข้อแนะนำในเรื่องการใช้พรก.ที่เป็นการละเมิดสิทธิการแสดงความคิดเห็นและสิทธิการชุมนุมมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้จะดำเนินการตรวจสอบกรณีร้องเรียนนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 เมษายน 2565
ทางด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า การมาร้องเรียนต่อกสม.ในครั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สามารถทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างจริงจัง มิเช่นนั้นแล้ว ประชาชนจะไม่มีสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งจะมีสิทธิในการเสนอข้อร้องทุกข์หรือการร้องเรียนต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย ดังนั้นจึงหวังว่ากสม.จะดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนอย่างน้อยที่สุดภายในสามเดือนมิเช่นนั้นแล้วการร้องเรียนจะไม่มีความหมายแต่ประการใด
แถลงการณ์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.พ.–31 มี.ค.2565 ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุม การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มากว่า 2 ปีแล้ว มีการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว 603 คดี (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค. 2565) ในจำนวนนี้มีทนายความ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาชน และเยาวชนถูกดำเนินคดีกว่า 1415 คน จาก การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบ เพื่อร้องเรียนต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของ ประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ยังไม่เคยปรากฏว่า มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดแต่อย่างใดการใช้พรก.ฉุกเฉิน จึงเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชน






