บทความ

จากพม่าถึงไทย จากไป่ ทาคน ถึง อานนท์ นำภา


จากพม่าถึงไทย จากไป่ ทาคน ถึง อานนท์  นำภา
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 3.3.65

รัฐบาลเผด็จการทหารยึดอำนาจมาได้หนึ่งปี จับกุมคุมขังประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารไป 11289 คน  แต่ต้องเจอกับการประท้วงและแรงกดดันรอบทิศทางทั้งในพม่าและนานาชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565  รัฐบาลเผด็จการพม่ามิง อ่อง หลาย ได้ปล่อยตัว ไป่ ทาคน ( Paing Takhon )ดารานักแสดงหนุ่มชื่อดังรู้จักกันแพร่หลายในเอเชีย โดยการให้อภัยโทษ  ซึ่งคาดว่าจะทยอยปล่อยนักโทษการเมืองอีกกว่า 2000 คน ในจำนวนนี้มีดารา นักแสดง นักร้อง ศิลปินชื่อดังกว่า 120 คนอยู่ด้วย เป็นการผ่อนคลายแรงกดดันจากการที่มีชาวพม่าลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 60000 คน (PDF)และยังมีการชุมนุมเดินขบวนโดยกลุ่มประชาชนไม่เชื่อฟังรัฐบาล( CDM)อีกหลายครั้ง รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติร่วมกันรณรงค์ปล่อยตัวนักโทษการเมือง

รัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าแถลงว่า การปล่อยตัวศิลปินคนดัง เช่น  ไป่ ทาคุณหลู่ มิน, ปเย ติ อู และอินดรา จ่อ ซิน เพื่อพวกเขาได้ใช้งานศิลปะในการช่วยกันสร้างชาติพม่ากันต่อไป

ไป่ ทาคน ในวัย 25 ปี เป็นดาราชายคนดังระดับเอเชีย เขาเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้งด้วยกัน และปรากฏตัวอยู่แถวหน้าสุดของการชุมนุมเดินขบวนทุกครั้ง โดยการชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านเผด็จการ ซี่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการชุมนุมของคณะราษฎรในประเทศไทย เขาชักชวนดาราดัง นักร้องดัง หลายคนให้มาเข้าร่วมการประท้วงอย่างแข็งขันและทุกครั้งเขาประกาศว่า เชิญชวนประชาชนมาประท้วงและร่วมกินหมูกระทะระหว่างการชุมนุม ซึ่งเขาได้เรียนรู้มาการชุมนุมที่สนุกสนานมาจาก คณะราษฎรของประเทศไทย  

ทางด้านประเทศไทย รัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินคดีเยาวชนที่ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้รัฐบาลประยุท์ ลาออก ด้วยการดำเนินคดีในข้อหา ก่อความไม่สงบและฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินเป็นจำนวนกว่า 1500 คนด้วยกัน ในจำนวนนี้มีการตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นจำนวน 270 คน โดยเป็นแกนนำคณะราษฎรถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวน 6 คนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 จนกระทั่งล่าสุด มีการปล่อยตัวแกนนำทั้งหมด โดยการประกันตัวแบบมีเงื่อนไข ห้ามการแสดงความคิดเห็นและการเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์   นักโทษการเมืองในข้อหามาตรา 112 คนสุดท้ายล่าสุดนายอานนท์ ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

การจับกุมแกนนำคณะราษฎร 6 คน คือ พริษฐ์ ชีวารักษ์ เบญจา อะปัน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ภานุพงษ์ จาดนอก  ปนัสยา  สิทธิจิรวัฒนกุล  อานนท์ นำภา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา คณะราษฎรจัดการชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ที่แยกราชประสงค์ใจกลางเมืองกรุงเทพมีประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นคนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564และ 12 ธันวาคม 2564 โดยมีประชาชนกว่า  250,000 คน เข้าชื่อกันเพื่อให้มีการยกเลิกมาตรา 112 นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty  International ) องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลที่มีสมาชิกกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกได้ทำการรณรงค์ในโครงการเขียนเปลี่ยนโลก” Write for Rights” เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในประเทศไทย จนทำให้รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะขับไล่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกจากประเทศไทย

อานนท์ นำภา ในวัย 38 ปี เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนและศิลปินคนดังในเอเชียเป็นแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศไทย เป็นผู้ปราศรัยคนสำคัญที่เสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ข้อด้วยกัน จนเกิดปรากฏการณ์ สั่นสะเทือนการเมืองไทยที่เรียกว่า ทะลุเพดาน จนต่อมาได้คนหนุ่มสาวได้รวมตัวกันเป็น กลุ่มทะลุฟ้า ทะลุแก๊ส และทะลุวัง ที่เป็นการเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จนถึงปัจจุบันนี้ อานนท์ นำภาถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลาถึง 7 เดือนด้วยกัน เขาได้รับรางวัลกวางจูในฐานะนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยจากประเทศเกาหลีใต้ จนชื่อของเขาโด่งดังไปทั่วโลก  ระหว่างการถูกคุมขัง มีคนทั่วโลกเขียนจดหมายถึงเขาและรัฐบาลไทยเป็นจำนวนนับหมื่นฉบับด้วยกัน

แม้ว่า อานนท์ นำภาจะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขการปล่อยตัวในการที่จะไม่เข้าร่วมการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ แต่เขาประกาศว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนของศาลและเงื่อนไขที่เขามีต่อขบวนการประชาชนในการเดินหน้าให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตรย์ต่อไป

สมยศ พฤกษาเกษมสุข รายงาน 3.3.65

Credit: Photo by NYEIN CHAN NAING/EPA-EFE/Shutterstock (11754817ai)