ข่าว

บทเรียนพฤษภาทมิฬ 2535 ถึงการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย


บทเรียนจากพฤษภาทมิฬ 2535 ถึงการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย

23 มีนาคม 65 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภา 35 และคณะสังคมศาสตร์ มศว จัดเวทีอภิปรายเรื่อง “ยูเครน/พม่า/เกาหลีใต้/ไทย : คนรุ่นใหม่กับบทเรียนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ” ณ คณะสังคมศาสตร์ มศว ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  ดร.รุ่งฉาย เย็นสบาย  อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว ดร.สายชล ปัญญชิต อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มศว นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาญาติวีรชนพฤษภา 35 นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล  สมาชิกคณะราษฎร  และนายสันติภาพ ราษฎรยินดี ประธานสโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มศว ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์ รองคณบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม

กระแสการเมืองโลกและความเกี่ยวเนื่องของประชาชนที่มีความเกี่ยวข้องในการต่อสู้ของกระบวนการประชาธิปไตย

ในเวทีดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนถึงประเด็นมุมมองในแง่คิดของนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์การเมือง พฤษภา 2535 โดย ดร.รุ่งฉาย เย็นสบาย ได้ให้ความสำคัญและถอดบทเรียนสถานการณ์ดังกล่าวว่า ตนเองได้เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวของคุณพ่อ ซึ่งเป็นคนเดือนตุลาและร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 การเติบโตมาท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทำให้ได้เห็นมุมมองความคิดก้าวหน้า เพราะฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยแท้จริงแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับครอบครัว เมื่อเติบโตมาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย แม้ว่าในรุ่นของตนเองนั้นจะอยู่ในระยะห่างของการเรียกร้องทางการเมือง แต่ก็ได้เห็นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีอายุห่างกันราวสิบปี ได้พยายามตั้งคำถามกับระบอบการเมืองการปกครอง และสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยง สืบทอดมาจากพัฒนาการของเหตุการณ์เดือนตุลา 2519 และ พฤษภา 2535 เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เคลื่อนไหวและตั้งคำถามในระดับโครงสร้างการเมืองการปกครอง ให้คนรุ่นของตนนั้นได้เกิดการฉุกคิดพร้อมกับถอดบทเรียนไปด้วยกัน

ในช่วงสงครามเย็น เรื่องราวที่ตนค่อนข้างให้ความสนใจ ในช่วงเวลาที่เราประเมินการเคลื่อนไหวการเรียกร้อช่วง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาสังคมค่อนข้างมีความพิเศษ จะเห็นขบวนการเคลื่อนไหวของคนอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก พอจะเทียบได้ถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านเราช่วง 1970 ในการเคลื่อนไหว

ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นมีงานของฝ่ายซ้ายค่อนข้างเยอะ เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มีอิทธิพลในสังคมไทย และถูกทำให้หายไปในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การให้ความคำนึงถึงการขูดรีดของชนชั้น การขูดรีดของอเมริกาและตะวันตก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวของประชาชน ในเวลานั้นทำให้สภาพสังคมไทยมีลักษณะของการร่วมมือของนิสิตนักศึกษาและกรรมาชีพ กรรมกร ชาวนา ในกรณีนี้เราจะเทียบกันได้ในส่วนของอเมริกาและในประเทศไทยเองที่แนวคิดฝ่ายซ้ายได้สนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยมากขึ้น

มหาวิทยาลัยควรมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย

ด้าน ดร.สายชล ปัญญชิต อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ของ มศว. ได้กล่าวว่าอย่างมีนัยสำคัญว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้พิสูจน์ตัวเองต่อการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย โดยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมของการเกิดประชาธิปไตย ในบทบาทของการเป็นอาจารย์สอนสังคมวิทยาของคนรุ่นใหม่ ตนได้เล็งเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการต่อสู้ในยุคต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ ในแต่ละช่วงมีความสำคัญของอำนาจที่ทำให้คนส่วนหนึ่ง ๆ ต้องลุกขึ้นมาผลักประเด็นของตัวเองและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางการเมืองการปกครองอยู่เสมอ

ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในปี 1987 ของเกาหลีใต้ เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในโซลและนอกโซลได้ลุกขึ้นมาตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง ตนเชื่อว่าในยูเครนเองก็มีความตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่พยายามจะหลุดออกจากอำนาจของรัสเซียและการยืนอยู่ตรงกลางระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม ถ้าเราใช้มุมมองของสังคมวิทยา ทั้งการต่อสู้และการไม่ยอมรับสังคมคมประชาธิปไตยเราก็จะเห็นมุมมองที่หลากหลาย และทำให้การต่อสู้แตกต่างกัน

มิติทางสังคม เครื่องมือของการต่อสู้ ช่วงเวลาของการเกิดสงครามเย็น ย้อนกลับไปถึงฝ่ายซ้ายฝั่งประชาชนที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โลกทวิตเตอร์ โลกเฟสบุ๊ค ตื่นตัวมากในการต่อสู้กับรัฐ รัฐซึ่งเป็นอนาล็อกได้มีความท้าทายมากกับโลกสมัยใหม่ที่กว่าจะเคลื่อนได้ผ่านหนังสือราชการ เพราะโลกของทวิตเตอร์เคลื่อนเป็นวินาที เครื่องมือของการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่พัฒนาการในเรื่องเทคโนโลยี พลังภาคประชาชนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าระบบราชการ

พอถึงจุดหนึ่งแล้วประเด็นที่จุดประกายการต่อสู้ทางประชาธิปไตยมีความหลากหลาย เช่น ประเด็นความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายในเรื่องการนับถือศาสนา การต่อสู้ที่มาจากประชาชนให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ท้ายที่สุดแล้วการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียม ยิ่ง excusive ประเด็นได้หลากหลายเท่าไร ยิ่งทำให้เกิดการตื่นตัวและขยายมวลชนได้มากขึ้น

การต่อสู้ของยูเครนมันต่อเนื่องตั้งแต่ที่เขาพยายามจะปลดแอกจากปูติน เปรียบเทียบได้เหมือนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ทั้งในไทยและที่อื่น ๆ ที่ประกาศตัวเองเป็น Global Citizen

สายลมแห่งเดือนตุลาได้พัดหวนคืนมาอีกครั้ง

ด้าน นายเมธา มาสขาว ได้ให้สาระสำคัญในการแลกเปลี่ยนประเด็นในเวทีนี้ว่า “สายลมแห่งเดือนตุลาได้พัดหวน ความหมายของประชาธิปไตยในปัจจุบันเปิดกว้างมาก โดยเฉพาะในมุมมองของคนรุ่นใหม่ มีความขัดแย้งในบริบทแตกต่างหลากหลาย แต่จริง ๆ แล้วความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นมีความเชื่อมโยงกันถ้าเราเอาครอบครัวคนไทยที่ต่อสู้แต่ละยุคสมัย เราจะเห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย หรือจะมองจากมุมมองของปรากฏการณ์อื่น ๆ ของโลก จะเห็นได้ว่าในสงครามยูเครนและความขัดแย้งในคาบสมุทรไครเมียนั้น ถือเป็นผลพวงของการแสดงแสนยานุภาพต่อจากยุคสงครามเย็น รัสเซียเปิดสงครามรุกรานก่อนเพื่อป้องกันการขยายแสนยานุภาพทางอาวุธประชิดติดชายแดนตน โดยนาโต้ (1949) ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อขยายอิทธิพลความมั่นคงของสหรัฐฯ แน่นอนหลังยุคล่มสลายของสหภาพโซเวียตรุสเซีย สมควรยุบองค์กรร่วมสมัยสงครามเย็นไปได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนาโต้ หรือซีโต้ (1954) ก็ตามที่ไทยสังกัดหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี เพราะการสร้างสันติภาพร่วมกันของประชาคมโลกคือการถอยออกจากเศรษฐกิจสงครามและแก้ไขความมั่นคงโดยมติสหประชาชาติ ยุบและหยุดการแสดงแสนยานุภาพทางอาวุธ การแก้ปัญหารัสเซีย-ยูเครน จึงมีทั้งวิธีการเฉพาะหน้า ระยะกลางและระยะยาว คือการเรียกร้องรัสเซียหยุดการโจมตีทางอาวุธที่ตนเองเริ่มขึ้น การเยียวยาผลพวงของสงครามและความสูญเสียหลังข้อเสนอหยุดยิง การใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคดีอาชญากรรมมนุษยชาติในเวลาต่อมา และอาจรื้อฟื้นคดีการรุกรานของสหรัฐฯ ในอดีตด้วย รวมถึงการยุบองค์กรแบบนาโต้ลง และใช้กลไกสหประชาชาติร่วมสร้างสันติภาพ แทนกลไกยุคสงครามเย็นของมหาอำนาจ

เขามีความคิดเห็นว่า “คนไทยส่วนหนึ่งชอบเลือกข้าง แทนที่จะเลือกหลักการ แต่เมื่อเราเลือกข้างแบบนั้นเมื่อไหร่ แม้ฝ่ายตนเองทำเรื่องเลวร้ายมันก็อาจจะกลายเป็นใบอนุญาตให้เกิดความชอบธรรมขึ้นได้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นผู้สนับสนุนสงครามและการก่ออาชญากรรมต่อมนุษย์ทางอ้อม สงครามที่เกิดขึ้นไม่มีประชาชนประเทศใดได้ประโยชน์ แต่เพราะผู้นำทั้งหลายกระหายอำนาจ การที่จีนตัดสินใจโทรศัพท์สายตรงหาผู้นำสหรัฐฯ นั้นถูกต้องแล้ว มหาอำนาจในโลกนี้มาสร้างสันติภาพร่วมกันดีกว่าสร้างสงครามเพื่อความมั่นคงที่จอมปลอม แต่นำมาสู่ความสูญเสียของประชาชน”

ความไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ที่ไม่ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่

ด้านนายสันติภาพ ราษฎรยินดี ประธานสโมสรนิสิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้ร่วมถอดบทเรียนถึงเครื่องมือในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ เขายกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกามีเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งนี้ชี้ชัดว่ามันเกี่ยวกับเครื่องมือที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย

และเขายังมองว่า การเกิดจลาจลในอเมริกาไม่เคยมีความรุนแรง แตกต่างจากประเทศไทยเมื่อมีการเรียกร้อง มีการชุมนุม จะเกิดความรุนแรง เขายังกล่าวว่า “ผมเคยมีประสบการณ์ ที่เคยทำงานควบคู่กับภาครัฐที่จะทำให้ประชาชนตระหนักคิดในเรื่องประชาธิปไตย แต่ในที่สุดเขาพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้เราเป็นเครื่องมือให้เขาทำงานต่อ แต่เมื่อเรายึดในตัวเด็กและเยาวชน เราเลือกที่จะไม่ยอมรับในกฎเกณฑ์ของเขา เพราะในที่สุดแล้วเราเห็นว่าสิ่งนี้จะนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

นอกจากนี้นายสันติภาพ ราษฎรยินดี ได้สรุปบทเรียนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ส่งผลต่อประชาชนในยุคเปลี่ยนผ่านของไทยมีสาระสำคัญว่า ประชาชนถูกบีบ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมืองและทวีความรุนแรงขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่เราจะต้องเรียนรู้ เขามองว่าในอนาคต ขบวนของเด็กและเยาวชน มันจะเกิดขึ้นอีกต่อเนื่องอย่างแน่นอน เมื่อเราตระหนักในประชาธิปไตยมากขึ้นและอยากเห็นสังคมประชาธิปไตย

เขายังฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า หากเราลองเรียนรู้ มองเห็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก และถ้าเกิดขึ้นอีกเราจะแก้ไขอย่างไร  หลังพฤษภา 35 เกิดรัฐธรรมนูญ 40 มันเริ่มจะดีขึ้นแล้ว แต่มันก็หยุดชะงักลง กลับมาสู่วังวนเดิม มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจนสักที เรามีรัฐธรรมนูญปี 60 ที่สมาชิกวุฒิสภาจะดำรงอยู่ถึง 5 ปี เขายังเหลืออีก 1 ปีที่จะเลือกนายกฯ การที่เราไม่ได้เลือกผู้นำเอง เรามองว่ามันได้เกิดผู้นำที่มาจากเรา มันทำให้ไม่เกิดการยอมรับ ความไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ที่ไม่ตรงกับความต้องการของเรา อยากให้ช่วยกันมอง ว่าสิ่งที่ผ่านมา มันได้เกิดผลกระทบเช่นไร และจะร่วมกันแก้ไขปัญหาไปอย่างไร

การตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ควรเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล  สมาชิกคณะราษฎร ได้กล่าวโดยมีใจความสำคัญว่า สำหรับตัวเธอเองที่ได้ถอดบทเรียนและเห็นว่าประวัติศาสตร์มันเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร มันคือข้อมูลที่ทำให้เธอเห็นคุณค่าในภายหลัง ได้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตย แน่นอนว่าประชาชนสำคัญเป็นหลัก หากเราอยากเป็นประชาธิปไตย เราจะต้องศึกษาการเมืองและอำนาจในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญว่าหากอยากเป็นสังคมประชาธิปไตยเราจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยคืนกลับมา เราจะมีอำนาจในสัดส่วนแบบไหนบ้าง ประชาชนจะต้องกำหนดทิศทางตัวเอง โครงสร้างอำนาจแบบไหนที่เหมาะกับเรา ถ้ามีโครงสร้างอำนาจแบบนั้น มันเกิดผลอย่างไร การช่วงชิงอำนาจแต่ละฝ่าย แต่ละฐานอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร รัฐบาลประชาชน เราก็สามารถเรียนรู้ได้ สุดท้ายแล้วเราสามารถเก็บเอาทุกช่วงประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียน และนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยจริง ๆ ได้

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เรีนยรู้ประวัติศาสตร์ เธอเรียนรู้ว่าเผด็จการก่อนหน้านั้นมีแบบแผนเป็น การวางรากฐานอำนาจของเขาเป็นอย่างไร ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านเผด็จการ จำเป็นต้องเรียนรู้เอาไว้

เช่น บทเรียนจากประเทศพม่า ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ เสียที คล้ายกับประเทศไทยเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงพม่าเราจะเห็นรูปแบบเผด็จการตั้งต้นเป็นอย่างไร การควบคุมกองทัพของพม่าพยายามนำประชาธิปไตยมาบังหน้า และสุดท้ายเมื่อประชาชนเลือกพรรคประชาธิปไตย กองทัพพม่าก็ปฏิเสธผลการเลือกตั้งและกลับมาครองอำนาจ ชัดเจนว่าเผด็จการไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่กองทัพจะควบรวม แบ่งอำนาจให้กับประชาชนตามสัดส่วนที่เขาต้องการ กองทัพพม่าแพ้เลือกตั้ง 2 ครั้ง และก็ล้มเลือกตั้งทั้งสองครั้ง เราจะเห็นแบบแผนอย่างแรกเลย เขาเข้าสู่อำนาจด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะคล้ายของไทยที่ทหารส่งคนของตัวเอง 25 เปอร์เซ็นต์เพื่อเข้าไปนั่งตำแหน่ง สว.และสส. เมื่อเขาจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาก็เข้ามาอยู่ในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ปัจจุบันเธอมองที่สถานการณ์การเมืองการปกครองแต่ละรัฐ เริ่มที่พม่า ยังเกิดการควบรวมอำนาจของกองทัพพม่าตลอดเวลา ต่อสู้กับประชาชน ชัดเจนว่ากองทัพและประชาชนเป็นศัตรูกัน เมื่อพี่น้องประชาชนในพม่าถูกกดทัพ ขบวนการประชาธิปไตยจึงเกิด และเกิดการสู้กลับของประชาชนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนกันเอง  เกาหลีใต้ก็ชัดเจน ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับได้ประธานาธิบดีที่ไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสิ่งที่เราจะต้องมาถอดบทเรียนว่าประชาธิปไตยได้เข้าถึงความเท่าเทียมทางเพศหรือเปล่า ย้อนมาที่รัฐบาลไทย มีกลไกรัฐสภา มีการเปิดโอกาสให้ชุมนุม แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เป็นบรรยากาศของประชาธิปไตยจริง ๆ มีการดำเนินคดีของคนที่ออกมาต่อต้านอำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่ออกมาในประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่เห็นค้านกับรัฐบาลไม่ถูกดำเนินคดีเลย เรายังเห็นการวางโครงสร้างอำนาจของเผด็จการทหารอยู่ เขาไม่ได้ตัวคนเดียว เขามีองคาพยพของเขา แม้ตัวเขาไม่มีประสิทธิภาพ แต่มีองคาพยพที่พยายามวางอำนาจให้ยาวนาน และเหล่านี้เป็นบทเรียนให้ประชาชนได้ถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบันที่จะสร้างขบวนการประชาธิปไตยของตัวเองอย่างไร”

ทั้งนี้นางสาวภัสราวลียังย้ำว่า สุดท้ายแล้ว กระบวนการประชาธิปไตยย่อมพึ่งประชาชนเป็นหลัก ถ้าเราจะพูดถึงประชาธิปไตย ประชาชนจะต้องเป็นผู้เลือก และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยนั้น ควรรู้เขาให้ดีก่อน รู้เราว่าตอนนี้เรามีความพร้อมแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญมาก คือ ความรู้สึกร่วมของคนในสังคม ว่าเราอยากมีส่วนร่วมในการปกป้องประเทศอย่างไร เราต้องมีความรู้สึกร่วมกันก่อนว่า เรามีอำนาจที่เราต้องหวงแหน แม้แต่ความคิดเห็นของเรามันต้องมีส่วนร่วมในการนำเสนอเพื่อการกำหนดอนาคต เราต้องจับตาดูการใช้รัฐธรรมนูญอย่างถูกวิธี อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านมา เราไม่เห็นด้วย เราพยายามที่จะทวงคืนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง หลังจากนั้นมันจะเป็นผลดีของเราที่เราจะได้เข้าสู่อาจเชิงโครงสร้าง สิ่งต่อมาที่จำเป็นมากคือการกระจายอำนาจ ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในภูมิภาค นอกจากส่วนกลาง การปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย จำเป็นมากที่ต้องมีความเป็นปกติของการเมืองที่จะอยู่ในชีวิตของเรา การตั้งคำถามเกี่ยวกับการปกครอง เศรษฐกิจ งบทหาร และแม้แต่การตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่สิ่งที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน มันจะทำให้การมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยยังคงอยู่ และเกิดแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้ไม่ใช่อาชีพ ไม่ใช่งาน มันคือบทบาทหน้าที่หนึ่งที่ประชาชนไทยจะต้องทำ”

เณศณัฏฐ์ สิมลาโครต รายงาน 24.3.65

ดูแลสุขภาพ-ดื่มชาสมุนไพร

อาร์ติโชก( Artichoke)เป็นพืชวงศ์เดียวกับทานตะวัน เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร เป็นชาสมุนไพรจากประเทศเวียดนาม สรรพคุณล้างสารพิษในร่างกาย ลดไขมันในเส้นเลือด กระตุ้นการทำงานของตับ กระตุ้นการสร้างน้ำดีของตับ เสริมสร้างการทำงานของถุงน้ำดี ช่วยป้องกันตับอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจและเลือดอุดตัน อุดมด้วยสารแอนตี้ออกซิเดนท์ ช่วยป้องกันมะเร็งและชะลอความชรา ผู้คนทั่วโลกจึงใช้เป็นอาหารและยามาแต่โบราณ สมัยกรีกและโรมันกินอาร์ติโชกเพื่อให้เจริญอาหาร ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า สดชื่น สมองแจ่มใส

ชงดื่มอุ่นๆหวานๆชุ่มคอ หนึ่งกล่องมี100ซอง ราคา 690 บาท สั่งซื้อเดือนนี้ ลดเหลือ 590 บาท(พร้อมจัดส่ง) ชงแค่วันละ 4 ซอง เติมน้ำได้ตลอด ดื่มได้ทั้งวัน  สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 590.00 บาท (รวมค่าส่ง)ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0 ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005