
องค์กรประชาสังคมรวมพลังต้าน พรบ.ควบคุมการรวมกลุ่ม
ปรากฎการณ์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565ที่ผ่านมาที่ภาคประชาชนจากทั่วสารทิศมารวมตัวกันหน้าบ้านมนังคศิลาในช่วงเช้าแล้วเคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อประกาศจุดยืนว่าพวกเขาไม่เอา พรบ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้กลไกกฎหมายที่จะควบคุมภาคประชาสังคมไม่ให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมได้อย่างมีอิสระและเสรีภาพ เป็นที่ประจักษ์ว่าภาคประชาชนและประชาสังคมไทยต่อต้านการกินรวบอำนาจภายใต้ระบอบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พ.ร.บ.การรวมกลุ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในช่วงเวลาของรัฐบาลรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เราจะเห็นว่าได้มีการปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และสกัดกั้นการรวมกลุ่ม กิจกรรมสาธารณะ โดยใช้กฎหมายมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้ทหารมีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและการฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่งสามารถจำกัดเสรีภาพของผู้เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างครอบคลุม หรือไม่ว่าจะเป็น ร่างกฎหมายชุดความมั่นคงดิจิตอล ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามสิ่งยั่วยุ ร่างแก้ไขวิ.อาญาฯ เพิ่มอำนาจดักฟังโทรศัพท์ ที่ออกมาละเมิดสิทธิในการสื่อสารข้อมูลของประชาชนโดยอ้างว่าขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ทำให้ประชาชน ภาคประชาสังคม อยู่กับบรรยากาศของความกดดัน จำกัดจำเขี่ยในการอิสระ เสรีภาพ ที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหลากหลาย
กระทั่งปี 2562 ได้มีการจัดการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์กลับมาอีกครั้งในรูปแบบของนายกฯ ที่ถูกเลือกเข้ามาจากรัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชารัฐ บรรยากาศทางการเมืองดูจะผ่อนคลาย แต่ในช่วงเวลาของการบริหารบ้านเมืองท่ามกลางภาวะโรคระบาด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้องได้ ทำให้เกิดการรวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องกันอย่างหลากหลายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน รวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อตั้งคำถามต่อการบริหารงานและการได้มาซึ่งอำนาจอันไม่ชอบธรรมของพลเอกประยุทธ์เอง นำไปสู่การดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้กฎหมายหลายฉบับเพื่อดำเนินการต่อประชาชนที่ความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 112 และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ล่าสุด ความล้ำหน้าในการก้าวถอยหลังจากหลักการเสรีประชาธิปไตยของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ได้ก่อให้เกิดแนวคิดการสกัดกั้นเสรีภาพการรวมตัวของประชาชนเพื่อรวบกินอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ ด้วยการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจนายกฯ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อหาหลักการมาใช้ยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมีการอ้างถึงข้อกําหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) และมีการจัดทำร่าง “พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงผลกำไร พ.ศ….” (ร่างฉบับใหม่) ขึ้น ในวันที่ 13 ธ.ค. 64 และอยู่ในระหว่างการพิจารณาจนถึงวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา
ปัญหาที่สอดแทรกมากับ พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมาพร้อมกับปัญหามากมายเพื่อจะขัดขวางกิจกรรมของภาคประชาชนในการรวมกลุ่ม ตั้งแต่ทำให้รัฐสามารถสอดส่องการทำงานของภาคประชาสังคม โดย มาตรา ๑๙ ได้ระบุให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร วัตถุประสงค์การจัดตั้ง วิธีการดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้เข้ารับผิดชอบดำเนินงาน โดยให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย มาตรา ๒๑ ที่ระบุให้แจ้งเงินทุน บัญชีธนาคาร และวัตถุประสงค์ในการใช้เงินต่อนายทะเบียน และมาตรา ๒๒ ที่ต้องแจ้งบัญชีรายรับรายจ่าย ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท หรือ ปรับวันละ ๑,๐๐๐ บาท จนกว่าจะดำเนินการตามที่รัฐต้องการ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังให้อำนาจรัฐในการสั่งปิดองค์กรไม่แสวงผลกำไรในมาตรา ๒๐ ซึ่งระบุว่าห้ามองค์กรไม่แสวงผลกำไรดำเนินงานในลักษณะที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือก่อให้เกิดความแตกแยก ห้ามมิให้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืนการแจ้งเตือนของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งยุติการดำเนินงานได้
ปัญหาขั้นต่อมาของ พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม คือ ให้อำนาจรัฐมนตรีประจำกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานและแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้ด้วยตนเอง ซึ่งคณะกรรมการจะมีอำนาจเลือกบางกลุ่ม บางองค์กรได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายนี้ได้ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อองค์กรภาคประชาสังคมอย่างไม่เท่าเทียมกัน
และยังมีการนิยามองค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่างกว้าง ในมาตรา ๓ “องค์กรไม่แสวงผลกำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกัน จัดตั้งในรูปแบบใด ๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งหากำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งกลุ่มที่เข้าข่ายตามนิยามดังกล่าว ได้แก่ สมาคม มูลนิธิ กลุ่มจิตอาสา กลุ่มรณรงค์ประเด็นต่าง ๆ และกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ
ชัดเจนว่าหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านแล้วองค์กร กลุ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ที่ดำเนินการเรียกร้องหรือทำงานคู่ขนานกับรัฐบาลสามารถถูกเช็คบิลได้ตลอดเวลา ถือเป็นการละเมิดภาคประชาสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเติบโตของสังคมประชาธิปไตยที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้กับสังคม ชุมชน ในมิติของการพัฒนาทรัพยากร ตรวจสอบ และเรียกร้องต่อความบกพร่องไม่ชอบธรรมอันเกิดจากการดำเนินงานของรัฐ.
เขียน: คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร
ภาพ: ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์


