บทความ

ตุลาการรัฐประหาร มรดกบาปจากพฤษภาททิฬ  35


ตุลาการรัฐประหาร มรดกบาปจากพฤษภาททิฬ  35
คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-16.00 น. คณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จัดเวทีสาธารณะ 30 ปี พฤษภาประชาธรรม “ประสานมิตร: ถอดบทเรียนเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 35 กับการพัฒนาประชาธิปไตย” ณ ห้องประชุม ศ.ดร.ประสาท หลักศิลา (ชั้น 2) คณะสังคมศาสตร์ มศว (ประสานมิตร) ร่วมอภิปรายโดย ฝ่ายการเมืองและคนเดือนพฤษภา 2535 ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี (เข้าร่วมทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom) นายโภคิน พลกุล  อดีตประธานรัฐสภา  นายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน  อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มศว เวทีดังกล่าวมีการกล่าวต้นรับและเปิดประเด็นเวทีการอภิปรายวิชาการโดย ดร.ภูมิ มูลศิลป์  คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร และกล่าวเปิดโดย คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์  ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

จากพฤษภา 35 สังคมไทยไม่เคยแตะโครงสร้างอำนาจตุลาการ

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวโดยใจความสำคัญว่า จากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เข้าสู่การปฏิรูปการเมืองจนเกิดรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้แตะต้องโครงสร้างอำนาจระบบของฝ่ายตุลาการ ทำให้ฝ่ายตุลาการยังมีอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และไทยน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ตุลาการไม่ยึดโยงกับประชาชนในทางใดทั้งสิ้น ทำให้มีการใช้ตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ด้วยการใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตย

ย้อนไปปี 35 เกิดขึ้นเพราะมีการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนรวมตัวจนเกิดศักยภาพในการปฏิรูปการเมือง เกิดจากหลาย ๆ ฝ่ายของสังคมที่เห็นประโยชน์จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การสืบทอดอำนาจไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่สิ่งที่ขาดไปคือความเชื่อในหลักเสรีประชาธิปไตย ความเชื่อในระบบรัฐสภา ความเชื่อว่าประชาชนจะต้องกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง สาเหตุของคนที่ร่วมกันในเหตุการณ์พฤษภา 35 เขาร่วมกันเพราะเขาไม่ชอบ จปร.5 ที่ทหารรุ่นเดียวยึดครองอำนาจทุกหน่วยทัพและแทรกแซงการเมือง แต่ไม่ได้ร่วมกันเพราะเขาเห็นด้วยกับเสรีประชาธิปไตย แนวความคิดที่ไม่เชื่อเหล่านี้ก็พัฒนาไปสู่โครงสร้างระบบ ว่าผู้ที่มีอำนาจจะไม่เชื่อในระบอบเลือกตั้ง ไม่ยึดโยงกับอำนาจประชาชน

รัฐธรรมนูญ 60 เป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปสู่สังคมเสรีประชาธิปไตย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นพ้องต้องกันกับนายจาตุรนต์และได้กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่า เป็นความปรารถนาของคนที่จะได้ระบบประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ซึ่งไม่เคยได้แบบต่อเนื่องยาวนานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นำไปสู่การเกิดรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ต้องการให้อำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อผลักดันนโยบายตามความต้องการของประชาชนตามนโยบายหาเสียง อีกด้านเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระ เพราะเห็นว่าลำพังกลไกของสภาโดยเสียงข้างมากจะไปตัดสินหลาย ๆ เรื่อง เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ความชอบด้วยกฎหมาย การทุจริตคอร์รับชันมีขึ้นจริงหรือไม่ กลัวจะเป็นเสียงข้างมากลากไป จึงเป็นที่มาของการเกิดองค์กรอิสระ ซึ่งพยายามยึดโยงกับประชาชน กลไกที่สำคัญคือวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง และเกิดการคัดสรรต่าง ๆ ในที่สุดเกิดการต่อต้านการกระทำบางอย่างของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วเกิดปรากฏการณ์ว่ามีความพยายามเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ทำให้เกิดการขยายวงไปสู่การเคลื่อนไหวของประชาชนและสุดท้ายเกิดการเผชิญหน้ากับประชาชน เป็นข้ออ้างสำคัญให้เกิดการรัฐประหารขึ้นทั้ง 2 รอบ ในปี 2549 และปี 2557 ในระยะเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 10 ปี

นายอภิสิทธิ์ยังชี้ชัดว่า “ถ้าเราอยากจะก้าวเดินไปข้างหน้าเราต้องเก็บเกี่ยวทุกแง่ทุกมุมของเหตุการณ์และก็ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้เพื่อมาออกแบบระบบการเมืองที่เราจะสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าปฏิรูปแล้วเป็นเสรีประชาธิปไตย ผมก็เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่การเมืองไทยจะเดินไปข้างหน้าแล้วก็พัฒนาเป็นเสรีประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้นภารกิจสำคัญก็คืออย่างไรเสียก็ต้องมีการเคลื่อนไหวขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขหรือจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มันเป็นไปตามหลักการเสรีประชาธิปไตย จะออกแบบรัฐธรรมนูญกันอย่างไร ที่พยายามป้องกันและเปลี่ยนดุลอำนาจ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีรัฐประหารสิ่งแรกที่คณะรัฐประหารทำคือการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในความเห็นของผมจะหยุดวงจรหรือสกัดต้านรัฐประหารได้ ต้องพยายามลดเงื่อนไขการออกแบบระบบการเมืองและสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉวยโอกาส ฝ่ายตุลาการต้องเปลี่ยนแนวทางการวินิจฉัยกฎหมายจากที่บอกว่าเมื่อมีการรัฐประหารแล้วเกิดองค์รัฏฐาธิปัตย์สามารถที่จะออกกฎหมายมาลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ ต้องมีการวินิจฉัยเสียใหม่ว่าการกระทำต่าง ๆ ของคณะรัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ระบบพรรคการเมืองไม่ได้ปกป้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้านโภคิน พลกุล ได้อภิปรายเนื้อหา โดยแบ่งกลุ่มอำนาจออกเป็น 3 กลุ่มพลังที่มีความเชื่อมโยงและขัดแย้งกันมาตลอดในประวัติศสตร์การเมืองไทย คือ กลุ่มพลังศักดินานิยมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน 2475 กลุ่มพลังราชการอำนาจนิยมที่ประกอบไปด้วยผู้นำกองทัพเป็นหลัก และกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมหรือฝั่งประชาธิปไตย และที่ผ่านมานั้นกลุ่มพลังราชการอำนาจนิยมก็มักจะขัดแย้งกับกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมอยู่เสมอ แต่พลังศักดินานิยมนั้นยังคงอยู่ในสังคมได้ด้วยความเข้มแข็ง เพราะมีความชัดเจนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่มาช้านานและผู้คนยังคงเชื่อมั่น ในส่วนของอำนาจราชการนิยมนั้นไม่สามารถสืบทอดกันได้ในระยะยาว เมื่อเกษียณอำนาจก็จะเปลี่ยนมือ แต่อำนาจในการบริหารประเทศต้องใช้และพึ่งพาระบบนี้ ทำให้ระบบราชการมันยิ่งใหญ่โตและเป็นปีศาจที่เรียกว่าสังคมถูกครอบงำด้วยอำนาจนิยมแบบราชการ ทำให้ประชาชนทั่วไปเป็นคนตัวเล็กที่ถูกกดทับหนักที่สุดและถูกกดทับในทุกมิติของการดำรงชีวิตและการทำมาหากิน

จากปรากฎการณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องการคำตอบ คำอธิบายด้วยเหตุผล ต้องการเสรีภาพที่จะมองไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค คนรุ่นใหม่เห็นว่าการสืบทอดอำนาจในกองทัพ ระบบขุนศึก ไม่อาจจะส่งต่อเป็นทอด ๆ ให้แก่คนรุ่นหลานได้อีก แต่พลังของประชาธิปไตย พลังของนักศึกษา ถือว่าไม่ได้มีระบบที่เป็นสถาบันชัดเจน แต่เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ สืบทอดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และต้องส่งผ่านด้วยการเลือกตั้งผู้นำเข้ามา แต่ระบบพรรคการเมืองกลับไม่ได้ปกป้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“เลือกตั้งกันแทบตาย ว่าฉันจะไม่เอาเผด็จการแต่พอเข้าไปแล้วฉันก็เอา เพราะระบบมันใช้บริหารประเทศไม่ได้ หลายอย่างมันทำให้คนรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะคุณพูดแต่วาทกรรม เวลาที่คุณต้องพิสูจน์ตัวเองคุณไม่พิสูจน์ คุณอ้างโน่น อ้างนี่ มีบางพรรคที่เป็นพรรคของกลุ่มของก้อน หรือบางทีอาจจะเป็นลักษณะระบบครอบครัวไปเลย คือไม่สามารถหรือไม่ต้องการที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่ทุกคนรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและพร้อมจะร่วมกันผลักดัน”

พิชาย รัตนกุล ณ ภูเก็ต ได้ชวนย้อนหลังไปในเหตุการณ์หลังรัฐประหาร 2534 ว่าไม่ค่อยได้เห็นนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ถ้าย้อนไปมีการรัฐประหารปี 2520 เกิดรัฐธรรมนูญ 2521 และเกิดกบฏในปี 2524 มีความพยายามรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จในปี 2529 และทำสำเร็จในปี 2534 จะเห็นได้ว่าแทบทุก 4-5 ปีมีความพยายามในการทำรัฐประหาร ในช่วงพลเอกเปรมเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะความคิดประชาธิปไตยและมีการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเล็ก ๆ ในภาคประชาชน ในช่วงนั้นเรามีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับทำให้เริ่มมีเสียงการเรียกร้องนายกฯ จากการเลือกตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม และปี 2531 ก็ได้นายกที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนนายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีมาตั้งแต่ปี 2519 – 2531 พอเกิดการเลือกตั้งมันบรรลุบางอย่าง แล้วอยู่ ๆ ไม่รู้ใครมาจากไหนบอกว่าจะขึ้นมาเป็นนายกฯ และพาสังคมย้อนกลับว่าให้นายกมาจากไหนก็ได้ ทำให้ทุกอย่างปะทุออกมาในปี 2535 มันเป็นในเชิงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่หลักการนี้ก็สอดคล้องกับหลักการของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ตำแหน่งบริหารควรมาจากคนที่ประชาชนเลือกตามระบอบประชาธิปไตย พลังของความต้องการ สัญลักษณ์ประชาธิปไตยถูกบ่มเพาะมาเป็นเวลานาน และไม่มีความแตกแยกของประชาชนเหล่านั้น เลยเป็นการรวมพลังให้การสืบทอดอำนาจหยุดชะงักลงไป และนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่คลื่นประชาชนหรือคลื่นประชาธิปไตยได้ไปตีกระหน่ำโครงสร้างรัฐราชการอำนาจนิยมครั้งใหญ่ ทำให้กระแสความคิดการรัฐประหารถูกกดลงไปกว่า 15 ปี และนำไปสู่การคิดกระจายอำนาจ มีการเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จนเกิดกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นในเวลาต่อมา และยังสร้างคุณูปการในการปฏิรูปการเมืองระดับชาติ จัดระบบระเบียบการเลือกตั้งใหม่ เพื่อแสวงหาความชอบธรรมที่ถูกต้องและยึดโยงกับประชาชน ทำให้คณะรัฐประหารไม่กล้ายุบพรรคการเมือง แต่เกิดกลไกอื่นขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจเหล่นี้แทน ซึ่ง รศ.ดร.พิชายได้กล่าวชัดว่า “ตามแนวคิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมืองไปเลย เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย ให้สิทธิประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมือง ไปสั่งยุบพรรคไม่ได้

คุณูปการสุดท้ายของเหตุการณ์พฤษภา 2535 รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า “มีการยอมรับค่านิยมประชาธิปไตยมากขึ้น ค่านิยมในการต่อต้านรัฐประหารมีความกล้าหาญมากขึ้นกว่าในอดีต รวมถึงค่านิยมในด้านประชาธิปไตยอื่น ๆ เช่น เรื่องเพศ เรื่องสัดส่วนชาย-หญิง เรื่องพหุวัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่าง ๆ มากขึ้น เป็นต้น นี่คือบทเรียนสำคัญของสังคมไทยในการออกแบบรัฐธรรมนูญในเชิงโครงสร้างต่อไป เพื่อเฝ้าระวังนักการเมืองแบบอำนาจนิยมและนักรัฐประหารในระบบราชการอำนาจนิยม”.

ดูแลสุขภาพ-ดื่มชาสมุนไพร

อาร์ติโชก( Artichoke)เป็นพืชวงศ์เดียวกับทานตะวัน เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร เป็นชาสมุนไพรจากประเทศเวียดนาม สรรพคุณล้างสารพิษในร่างกาย ลดไขมันในเส้นเลือด กระตุ้นการทำงานของตับ กระตุ้นการสร้างน้ำดีของตับ เสริมสร้างการทำงานของถุงน้ำดี ช่วยป้องกันตับอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจและเลือดอุดตัน อุดมด้วยสารแอนตี้ออกซิเดนท์ ช่วยป้องกันมะเร็งและชะลอความชรา ผู้คนทั่วโลกจึงใช้เป็นอาหารและยามาแต่โบราณ สมัยกรีกและโรมันกินอาร์ติโชกเพื่อให้เจริญอาหาร ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า สดชื่น สมองแจ่มใส

ชงดื่มอุ่นๆหวานๆชุ่มคอ หนึ่งกล่องมี100ซอง ราคา 690 บาท สั่งซื้อเดือนนี้ ลดเหลือ 590 บาท(พร้อมจัดส่ง) ชงแค่วันละ 4 ซอง เติมน้ำได้ตลอด ดื่มได้ทั้งวัน  สั่งซื้อด้วยการโอนเงิน 590.00 บาท (รวมค่าส่ง)ในนามของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารกรุงไทย บัญชีเลขที่ 198-0-12736-0 ส่งสลิป และแจ้งชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่ง Email มาที่ editor@prakaifai.com หรือโทรศัพท์มาที่ 065-557-5005