ข่าว

DEEP SOUTH ศิลปะร่วมสมัย-ชายแดนใต้


DEEP SOUTH ลึกลงไป ใต้ชายแดน” ศิลปะร่วมสมัยสะท้อนสังคมการเมือง 3 จว.ชายแดน

ท่ามกลางสภาวะสังคมการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ที่สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้อำนาจที่ได้มาด้วยความไม่ชอบธรรมของรัฐประหาร ในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านั้น 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาประสบชะตากรรมเหล่านี้มาก่อนเกือบสองทศวรรษ นานนับสิบปีที่พวกเขาพยายามส่งเสียง แต่ก็ถูกปิดปากด้วยกฎอัยการศึก เช่นเดียวที่การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ที่ถูกปิดปากด้วย พรก.ฉุกเฉิน 116 หรือกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่จำกัดเสรีภาพแห่งการพูด การวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครอง อาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าพื้นที่ชายแดนใต้นี้เองที่เหมือนกับแหล่งทดลองการใช้อำนาจของกองทัพไทยในการจัดการบริหารพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยงบประมาณมหาศาล

พลัง Soft Power ที่ส่งออกมาสื่อสารและทำให้เสียงของคนปัตตานี ยะลา นราธิวาส เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคืองานศิลปกรรมร่วมสมัยจากศิลปินในพื้นที่ และเมื่อเราพูดถึง Patani Artspace หลายคนจะนึกถึงการรวมตัวของนักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ทำงานศิลปะ เล่า และแสดง ถึงวิถี วัฒนธรรม ชะตากรรมที่ประสบของคนในพื้นที่มลายูจังหวัดชายแดนใต้

ในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นวันแรกที่ Deep South ลึกลงไปชายแดนใต้ งานศิลปะของศิลปินจาก Patani Artspace ได้ติดตั้งและเผยแพร่ที่ VS Gallery ซอยนราธิวาส 22 และยังคงจัดแสดงยาวนานไปอีก 3 เดือน โดยในงานมีผลงานศิลปะของ 7 ศิลปิน ได้แก่ พิเชษฐ์ เปียกลิ่น, เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ, มูฮัมหมัดซุรียี มะซู, มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ, กรกฎ สังข์น้อย, อิซูวัน ชาลี และ วันมุฮัยมีน อีแตลา

งานแต่ละชิ้นยังคงสื่อสารและให้ความเป็นตัวตนของสำนักศิลปะแห่งปัตตานีที่กระทุ้งความคิด ความเชื่อ และฉายภาพสถานการณ์ของผู้ถูกกดขี่ภายใต้การดูแลของรัฐในมิติทั้งความรุนแรงและความหลากหลายทางวัฒนธรรม และงานเหล่านี้ล้วนใช้ Material ในพื้นที่มาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน รับแรงบันดาลใจมากจากชีวิต ประสบการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากของคนในพื้นที่วัฒนธรรมมลายู กลั่นออกมาเป็น 7 ผลงาน ของ 7 ศิลปิน

ศิลปะร่วมสมัยของคนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ

ผลงานศิลปะชุด “คนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ 2022”

เราจะได้พูดถึง 3 ผลงานและร่วมพูดคุยกับ 3 ใน 7 ศิลปินของโปรเจ็กต์ Deep South ลึกลงไปใต้ชายแดน เริ่มจาก คนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ 2022 ของ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ผู้ก่อตั้ง Patani Artspace อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

งานชิ้นนี้ได้หยิบเอา Material ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของชนชั้นรากหญ้านั่นก็คือ สังกะสี ส่วนประกอบของการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรือขนำน้อยตามทุ่งนา มาบอกเล่าชีวิตประชาชนภายใต้อำนาจอยุติธรรมและความรุนแรง อันเกิดจากความวิปริตของกฎหมายและอำนาจปกครอง ส่งผลกระทบต่อคนในจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งเจะอับดุลเลาะได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจของงานชุดนี้ว่าเป็นชิ้นงานที่ พูดในประเด็นของคนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ เป็นชื่องานนี้ เวลาที่เขามีประเด็นอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับพื้นที่ เขาจะเอ่ยคำนี้เป็นการเรียกแทนพื้นที่ว่า ‘คนสามจังหวัด’ แทบจะไม่ต้องบอกเลยว่าภาคไหน คนจะรู้ทันทีเลยว่า ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และส่วนหนึ่งของสงขลา ทีนี้ผมก็เอาฟอร์มที่แทนค่าความรู้สึกของคนในพื้นที่ แทนคนที่นั่นที่กำลังตกเป็นเป้าของอธรรม ถ้าเราดูฟอร์มที่เป็นเป้าของความอธรรม ความไม่ยุติธรรม กฎหมาย กฎอัยการศึก อะไรต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตมันก็กระทบไปหมดเลย เรื่องของความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น มันกลายเป็นว่าประชาชนเป็นเป้าทั้งหมดเลย สิ่งเหล่านี้มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม”

ส่วนตัวสัญลักษณ์ที่แสดงออก นอกจากฟอร์มที่เป็นคน เจะอับดุลเลาะ ยังใช้ความรุนแรงทางกายภาพที่ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้พบเห็นจนชินตาเข้ามาอยู่ในงานชิ้นนี้ “มันก็จะมีอาวุธ รองเท้าบูท อะไรพวกนี้มันเกี่ยวกับอำนาจทั้งหมดเลย อำนาจที่มันไม่ชอบธรรม และก็ตัวสังกะสีที่ผมใช้มันก็คือเรื่องของความรู้สึกแทนค่าของคนที่มันอยู่ในระดับรากหญ้า ชาวบ้าน ผู้บริสุทธิ์ เพราะว่าสังกะสีถ้าเรามองส่วนใหญ่ไม่มีคนชนชั้นนำ ศักดินา ที่เขาใช้สังกะสีมาทำบ้าน ผมก็เลยหยิบมาแทนค่าความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่”

เมื่อชวนพูดถึงความเป็นเอกลักษณ์และมีการกล่าวถึงว่าการสอนศิลปะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีนั้นมีความเป็นสำนักหรือความเป็นสกุลช่างปัตตานี ในฐานะครูสอนศิลปะเขามีความคิดเห็นอย่างไร เจะอับดุลเลาะกล่าวว่า “เราเป็นคนทำ ก็เลยไม่รู้ว่าคนมองว่า เอ๊ะ! มันเป็นสำนักคิดแบบไหน อย่างไร ผมก็อยากตั้งคำถามที่เขามองว่าอย่างไร (หรือว่าสกุลช่าง) เออ.. สกุลช่าง คือ ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องของ Culture หรือว่าเนื้อหา Content คือ ผมก็ยังไม่ได้บทสรุปตรงนี้ แต่ความมีเสน่ห์ของมันก็คือเราทำงานกับบริบทกับพื้นที่ ตัว Content ตัวเทคนิค วิธีการที่เราแสดงออก แต่ความเป็น Contemporary Art (ศิลปะร่วมสมัย) มันก็ยังคงอยู่ในตัวงานของมัน”

รวมถึงในส่วนของ Patani Artspace ที่ตัวเขาเองได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่แสดงศิลปะร่วมสมัยและแหล่งรวมศิลปิน นักศึกษาศิลปะ ในพื้นที่ ก็ยังคงจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับอย่างเข้มงวดในสถานการณ์การระบาดของโรค Covid – 19 “ล่าสุดเราก็จัด Chef Table ก็คือใช้ Artist เป็นชื่อนิทรรศการว่า Artist Table ให้ศิลปินได้หยิบ Material ที่มันอยู่ในพื้นที่มาทำงานศิลปะด้วยและอาหาร ก็ได้รับการตอบรับอย่างดี ในอนาคตนี้เราก็มีนิทรรศการศิลปะที่เราจะจัด ซึ่งเราเลื่อนมาจากโควิดมาสองปีแล้ว ในช่วงสิงหานี้ที่เราจะจัดประมาณเลยกลางเดือนสิงหาคม”

“ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ”

Under 2021: ศิลปะของผู้ถูกกดขี่

ผลงาน “Under 2021” โดย กรกฎ สังข์น้อย

Under 2021 เป็นงานของ กรกฎ สังข์น้อย ศิลปินชาวพุทธ อดีตนักศึกษา มอ. ปัตตานี พ่อเป็นคนสงขลา แม่เป็นคนปัตตานี เขานับเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตเติบโตในห้วงเวลาของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ปัจจุบันกรกฎทำงานศิลปะประจำที่ Patani Artspace โดยส่วนตัวแล้วเขามีความรักความชอบในงานจิตรกรรมไทยเป็นต้นทุน จึงได้ผลิตผลงานที่มีงานจิตรกรรมไทยเป็นแรงบันดาลใจและฉายภาพความรู้สึกนึกคิดของคนที่อยู่ใต้อำนาจ การครอบงำ หรือการถูกควบคุม ภายใต้กลอุบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกฎหมายที่กดขี่คนเล็กคนน้อยให้มีปากมีเสียงน้อยลง ขจัดผู้คนที่ต้องการออกมาเปล่งเสียงพูดความจริง เพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นนำผู้มีผลประโยชน์ด้วยมายาคติทางความเชื่อและวัฒนธรรม

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของชิ้นงาน กรกฎกล่าวว่าตัวเขาเอง “เป็นคนชอบงานจิตรกรรม ชอบทำจิตรกรรม ได้แรงบันดาลใจจากภาคไทย ผมทำเป็นลักษณะจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ใช้สัญลักษณ์ของเท้า ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจที่อยู่เหนือความเป็นมนุษย์ ก็คือกดทับแล้วก็ให้ความรู้สึกที่คนต้องแบกรับอำนาจหรืออะไรที่มันอยู่เหนือชีวิตของพวกเขา ใช้เท้าเป็นสัญลักษณ์ที่ทำเป็นโครงร่าง ไม่ได้ลงสี ลงน้ำหนัก หรือว่าให้ความสำคัญกับตรงนั้น ซึ่งผมก็มองว่ามันก็อาจจะเป็นเพียงมายาคติ เป็นแค่ภาพที่คนสร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอยู่จริง ในความรู้สึกของเรา เราไม่อยากให้มันมีอยู่จริง อยากให้คนเป็นอิสระมากกว่านี้”

กรกฎ สังข์น้อย”

งานของเขามีความเชื่อมโยงในมิติของผู้ถูกกดขี่ แต่คนพุทธจำนวนไม่มากที่จะเป็นตัวแทนส่งเสียงถึงบริบทชีวิตที่ถูกกดทับในพื้นที่จังหวัดชายแดน กรกฎก็เป็นหนึ่งในน้อยนั้น “ผมเป็นคนพุทธด้วยครับ อยู่ร่วมกับพี่น้องที่เป็นมุสลิม ที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และศาสนา ผมได้ใช้ในส่วนของสีรุ้งในการนำเสนอผลงานชิ้นนี้ สื่อความหลากหลายซึ่งสีรุ้งมันไม่ได้มีแค่เรื่องเพศสภาพเท่านั้น ผมมองว่ามันหลากหลายมากกว่าที่เราคิดเยอะ ในความเป็นมนุษย์นี้ก็ใช้ตัวคน แต่ไม่ได้ระบุเป็นคน แต่มันเป็นใครก็ตามที่อยู่ใต้อำนาจแบบนี้”

งานสเก็ตของกรกฎ สังข์น้อย

Tadika โรงเรียนสอนศาสนาและกฎหมายมาตรา 7

ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา โรงเรียนตาดีกาสอนศาสนาระดับประถมประจำหมู่บ้านกลายเป็นเป้าสนใจหนึ่งที่อยู่ในการจับตามองของรัฐว่าเกรงจะเป็นแหล่งซ่องสุมกองกำลัง ปลูกฝังแนวคิดที่รุนแรง แตกต่างไปจากความคิด ความเชื่อของวัฒนธรรมกระแสหลัก และเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ทำให้สถานภาพของโรงเรียนตาดีกานั้นกลายเป็นสิ่งบั่นทอนความมั่นคงของรัฐไทยเสมอมา ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วโรงเรียนตาดีกาประจำชุมชนหมู่บ้านกลับมีความอัตคัด ครูผู้สอนจะต้องออกทุนรอนของตัวเองในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อต่อยอดคำสอนของศาสนาและคงอัตลักษณ์คติชนและศาสนาในแบบมลายูไว้ ในผลงานชิ้นนี้จัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้สอนในโรงเรียนตาดีกา เพื่อให้เห็นความขาดแคลนของการศึกษาอิสลาม มีการแปลเพลงชาติไทยเป็นภาษามลายูที่ใช้ร้องในโรงเรียนตาดีกา เพื่อบอกเล่าว่าคนมลายูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยไม่ได้ขัดแย้งหรือต้องการตัดขาดจากความเป็นชาติไทย เพียงแต่พวกเขาอยากเป็นประชาชนของประเทศนี้ที่ยังคงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม สิทธิของความเป็นชาติพันธุ์ของตนไว้เท่านั้น

งานชิ้นนี้สร้างสรรค์ขึ้นมาโดย วันมุฮัยมีน อีแตลา เป็นการจำลองโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ เขากล่าวถึงแนวคิดที่จุดประกายให้สร้างสรรค์งานว่าเหมือนกับรัฐพยายามสร้างหน่วยงานที่ควบคุมโรงเรียนตาดีกา ในความไม่สมบูรณ์ของชุดการสอนในโรงเรียนตาดีกานี้ก็เป็นเหมือนสิ่งสะท้อนให้เห็นระบบในโรงเรียนตาดีกาที่เขาพยายามจะควบคุมในสภาวะที่เรายังขาดแคลน และการดูแลยังไม่ดี”

วันมุฮัยมีนมีความคิดเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ แต่ในทางกลับกันรัฐกลับ “ไม่สนับสนุนอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ให้มีการพัฒนา แต่การพัฒนาของรัฐนั้นกลับเป็นการกดทับ มีความพยายามใช้กฎหมายมาตรา 7 ที่พูดถึงการกำหนดให้โรงเรียนตาดีกามีหนังสือเรียนที่บังคับให้ใช้ภาษาไทย อย่างการร้องเพลงชาติในโรงเรียนตาดีกา ผมก็ได้ลงไปเห็น และนำเนื้อเพลงของเพลงชาติแปลเป็นภาษามลายู แล้วก็ให้เด็กร้องเพื่อแสดงให้เห็นทั้งอัตลักษณ์และความรักชาติ แต่ว่าในความรักชาติก็รักในแบบของตัวเอง สิ่งนี้เชื่อมโยงกับธงชาติที่อยู่ข้างหน้า ที่ใช้ผ้าปาเต๊ะในการทำเป็นธงชาติไทย”

วันมุฮัยมีน เป็นมุสลิม เคยเข้าเรียนโรงเรียนตาดีกา ที่เด็กชั้น ป.1 – ป.6 ทุกคนจะต้องเข้าเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เขาจึงเป็นตัวแทนของการบอกเล่าเรื่องราวความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามได้เป็นอย่างดี

“มันจะเป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษามลายูร้อยเปอร์เซ็นต์ สมัยที่ผมเรียนก็คือจะใช้เพลงชาติภาษามลายูเป็นเพลงชาติประจำโรงเรียนเลย จะไม่ใช้ภาษาไทย ก็จะมีการผูกพันกับครูที่สอนเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติ เกี่ยวกับการอ่าน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ในหนังสือจะเป็นการฝึกมารยาท การใช้ชีวิตที่เป็นแบบมุสลิมอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นโรงเรียนที่สอนเสาร์ – อาทิตย์ จันทร์ถึงศุกร์ก็จะเรียนโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ”

เมื่อถามว่าเขามีความอึดอัดกับการใช้กฎหมายมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญไทยอย่างไร วันมุฮัยมีนกล่าวว่า “เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้สึกว่าต้องรู้จักเรียนรู้เกี่ยวกับการเมือง ประชาธิปไตย แต่ในสิ่งที่กฎหมายพยายามพูดถึงนั้นกลับเป็นการควบคุม และเป็นการควบคุมด้วยการไม่สนับสนุน ไม่ให้เราแสดงออก ไม่ยอมรับอัตลักษณ์”

ผลงานชื่อ Tadika ของ วันมุฮัยมีน อีแตลา ได้นำวัสดุ กระดาน หนังสือ โต๊ะเรียนมาจากโรงเรียนตาดีกา และเขาทดแทนอุปกรณ์เหล่านี้ให้กับโรงเรียนตาดีกาแห่งนั้นใหม่ด้วยการขอบริจาคซื้อกระดานอันใหม่ให้กับโรงเรียน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการ “Deep South ลึกลงไปใต้ชายแดน” ซึ่งงานนิทรรศการยังคงจัดต่อเนื่องไปอีกสามเดือนจนถึง 12 มิถุนายน 2565

ธงผ้าปาเต๊ะใสส่วนของชิ้นงาน Tadika

“กฎหมายมาตรา 7 แปะผนัง เป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้น Tadika”