
ประจานผู้พิพากษายึดครองพื้นที่ป่าแหว่งขณะที่ดำเนินคดีชาวบ้านรุกป่ากว่า 5 หมื่นคดี
วันที่ 12 เมษายน 2565 พชร คำชำนาญ นักเคลื่อนไหวประเด็นที่ดินและสิทธิชาติพันธุ์พร้อมเพื่อนติดป้ายหน้าศาลอุทธรณ์ภาค ๕ โดยป้ายผ้าดังกล่าวมีข้อความว่า “วิมานใต้เท้าอยู่กลางผืนป่า(แหว่ง) แต่คนจนถูกแจ้งความ 4.6 หมื่นคดี” เพื่อทวงถามความยุติธรรมจากกรณี “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2547 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ กล่าวอ้างการทวงคืนผืนป่าจากนายทุนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีผืนป่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริง นโยบายนี้กลับไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่คนจนหรือทวงคืนทรัพยากรกับนายทุนอย่างที่กล่าวอ้าง ในทางกลับกันผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีเป็นชาวบ้าน พี่น้องชาติพันธุ์ที่ดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน เมื่อเทียบกับกรณีการสร้างบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่บุกรุกเข้าไปยังเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ กลับเป็นเรื่องที่รัฐสามารถปฏิบัติได้ แม้จะอ้างว่าเป็นที่ดินของธนารักษ์ก็ตาม นับเป็นความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
หลังจากติดป้ายผ้าเป็นที่เรียบร้อย พชร ได้ให้ความเห็นผ่านบทความที่โพสต์ลงเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “เหตุการณ์โศกนาฎกรรม อาชญากรรมโดยรัฐเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็สามารถสร้างได้ในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั้น 1A ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กำลังจะถูกแย่งยึดและสัมปทานเป็นเหมืองแร่ถ่านหิน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมจะดำเนินการกระทบกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาตินับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำ คือกระจกที่ฉายชัดว่าพวกเรา “ประชาชน” ไม่เคยมีส่วนแบ่งบนผืนแผ่นดินนี้ ที่ดินในประเทศนี้ทุกตารางนิ้ว ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์แล้ว ก็เป็นที่ดินของรัฐเท่านั้น ประเทศนี้มันกลายเป็นของกลุ่มชนชั้นนำและหมู่อภิสิทธิ์ชนทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วันนี้ผมจึงอยากชวนสังคมกลับมาตั้งคำถามถึงกรณีนี้อีกครั้ง เนื่องจากวันที่ 29 เมษายนนี้ จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี การเริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนผืนป่าเชิงดอยสุเทพดังกล่าวจากบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่กรณีนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องในระดับโครงสร้างการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ไทย ที่พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เรียกร้องเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย ในวันนี้ตัวเลข 46,600 คดียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกร คนจน กลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่ต้องไร้ที่ดิน ล้มละลาย ตายทั้งเป็น เราจะยินยอมก้มหัวอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่คนจน ประเคนกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเช่นนี้ไปได้อย่างไร”.
กลุ่มพีมูฟ’ (People Movement for a just society : P-Move) ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านทั่วประเทศต้องคดีบุกรุกป่าและทำไม้สูงถึง 46,600 คดี ในปี 2561 คนรวยร้อยละ 10 ถือครองที่ดิน 94.86 ไร่หรือ ร้อยละ 61.5 ขณะที่คนจนที่สุดร้อยละ10 ของประเทศถือครองที่ดินรวมกัน 68330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ0.1 แตกต่างกันกว่า 853.6 เท่า คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคนหรือร้อยละ 76 ของคนทายทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินทำกินของชาวบ้านเ 2700 ชุมชนเป็นเนื้อที่ราว 5.9 ล้านไร่
คเณศณัฏฐ์ สิมลาดครต รายงาน 13.4.65


