
ประชาสังคมร้องเรียน รมต.พม.เอาผิด ตำรวจอุ้มเด็ก มารับขบวนเสด็จ
วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคมคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน โดยองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 100 องค์กร และประชาชนกว่า 800 คนร่วมลงชื่อสนับสนุน นำส่งหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อกรณีเจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้อำนวยการให้มีการจับกุมคุมตัวเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนสามคน เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยหนังสือร้องเรียนฉบับดังกล่าวมีการระบุความผิดพลาด ละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ รวมถึงละเมิดอนุสัญญาสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองเด็กและเยาวชนตีความมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่คำนึงถึงเจตนาหลักของกฎหมาย ไม่ใช้กระบวนการสื่อสารเชิงบวก แต่กลับมีการแสดงออกในลักษณะข่มขู่ คุกคาม ทำให้หวาดกลัว และอุ้มไป
2. การจัดการของเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามมาตรา 22 มีการอ้างอิง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 24 และ 44 เพื่อแยกเด็กส่งสถานคุ้มครองสวัสดิภาพ แต่พบว่าในคลิปวิดีโอกลับเป็นการเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับอุ้มเด็กไปยังสำนักงานกระทรวง พม. และสโมสรตำรวจ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นมิตรต่อเด็ก ซ้ำยังปล่อยให้มีการสืบค้นโดยไม่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เด็กเชื่อใจอยู่ด้วย อาทิ นักจิตวิทยาเด็ก หรือนักสังคมสงเคราะห์
3. การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กฯ ถือเป็นการกระทำรุนแรงต่อเด็กทั้งร่างกาย วาจา และจิตใจ โดยภาพที่ปรากฎเป็นหลักฐานพบว่ามีการข่มขู่ บังคับฝืนใจโดยไม่รับฟังเหตุผลจากเด็ก ทั้งยังใช้กำลังล้อมจับเป็นจำนวนมากเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว แต่เจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กฯ กลับไม่ยืนยันอำนาจสูงสุดในการคุ้มครองเด็ก หรือยืนหยัดเพื่อต่อสู้พิทักษ์สิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็ก
4. เจ้าหน้าที่ของกรมกิจการเด็กฯ ได้กระทำการละเมิดหลักการอนุสัญญาสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 12 ว่าด้วยสิทธิการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติโดยได้รับการรับฟัง และ ข้อที่ 15 สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและชุมนุมโดยสงบ
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน ทบทวนบทบาทของตัวเอง โดยยืนหยัดหลักการเรื่องสิทธิและผลประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างสุดความสามารถ พร้อมทั้งเสนอแนวทางให้
1. ปลัดกระทรวงต้องสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เห็นประโยชน์และส่งเสริมสิทธิเด็ก กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย แลกเปลี่ยนอย่างโปร่งใส เพื่อขจัดแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งต่อหลักการสิทธิเด็ก
2.กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. ต้องจัดการประชุมและซ้อมแผนเพื่อรับมือความเสี่ยงเบื้องต้น กำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนในการประสานเจรจาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อเด็ก จัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
3. กรมกิจการเด็กและเยาวชนต้องแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการความขัดแย้ง รวมถึงสหวิชาชีพอื่น ๆ หน่วยงานระหว่างประเทศหรือองค์การสหประชาชาติ ในการพัฒนาศักยภาพ ทัศนคติและแนวทางในการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กในสถานการณ์ละเอียดอ่อน
4. กรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการวันดังกล่าวต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง ในการช่วยเหลือและเยียวยาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยทันที เพื่อลดและป้องกันผลกระทบด้านจิตใจระยะยาวและความเสี่ยงที่มีจะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่รุนแรง
ทั้งนี้หนังสือร้องเรียนฉบับดังกล่าวยังได้ส่งสำเนาถึงองค์กรในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก ได้แก่ ผู้แทน UNICEF ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR)ประจำประเทศไทย, คณะกรรมการด้านสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ(UNCRC Committee), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน.
คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร