
แก้ผ้าหน้าศาลอาญาให้ปล่อยนักโทษการเมือง ตะวันอดข้าวขอสิทธิประกันตัว
ภายหลังวันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ศาลอาญามีคำสั่งถอนประกัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรม อายุ 20 ปี ในคดี 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาขัดคำสั่งและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ซึ่งศาลอาญาได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยได้วางหลักทรัพย์วงเงิน 100,000 บาท ติดกำไล EM พร้อมเงื่อนไข “ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2565 พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตรสอบสวน สน.นางเลิ้ง เจ้าของคดีได้ยื่นถอนประกันเนื่องจากได้รับรายงานตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบุคคลเฝ้าระวังกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ว่ามีการโพสต์และแชร์เฟสบุ๊ค รวมถึงมีการขับรถเข้าใกล้ขบวนเสด็จ ทำให้ศาลนัดพิจารณาถอนประกันในวันนี้ ซึ่งสาเหตุการถอนประกันระบุว่า การเข้าร่วมขบวนเสด็จเมื่อ 17 มี.ค. จุดประสงค์สร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง ทำให้ศาลมีคำสั่งถอนประกัน ตะวัน – ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในวันที่ 20 เมษายน และตำรวจได้นำตัวตะวันไปยัง ทัณฑสถานหญิงทันที แม้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นขอประกันตัวทานตะวันด้วยวงเงิน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
เมื่อวันที่ 21 เมษายน ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยผ่านเพจของศูนย์ทนายว่า ทนายได้เข้าเยี่ยมตะวันผ่านไลน์และได้รับทราบจากตะวันว่าเธอเริ่มอดอาหารตั้งแต่เมื่อวาน(20 เมษายน) และได้นำอาหารที่ทุกคนฝากเข้ามาแบ่งให้กับนักโทษหญิงที่อยู่ในเรือนจำ พร้อมกับฝากข้อความมาว่า
“ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งเข้ามาถึงหนู อยู่ในนี้ต้องปรับตัวเยอะ มีท้อและเครียดบ้าง แต่ทุกอย่างในวันนี้ก็เตรียมใจไว้อยู่แล้ว ถ้าได้ออกไปเมื่อไหร่จะขอสู้ต่อ ไม่ยอมแพ้แน่นอน และจะเดินหน้าทำทุกอย่างที่เคยทำเหมือนเดิม”
ต่อมาเวลา 16.00 น. บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร นักกิจกรรมทางการเมืองนำโดย แซม สาแมท และ ไพศาล จันปาน แท็กซี่เสื้อแดง ร่วมกับนักกิจกรรมชายอีก 4 คน ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แก้ผ้าเหลือเพียงกางเกงในตัวเดียวเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ตะวันและนักโทษทางความคิดคนอื่น ๆ โดยไพศาล ได้กล่าวว่า “สิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ควรจับเอาตัวเยาวชนไปขังไว้เช่นนั้น”
โดยการทำกิจกรรมดังกล่าวมีการชูป้ายข้อความต่าง ๆ อาทิ “ตามตะวันกลับบ้าน” “ปล่อยตะวัน” “สิทธิขั้นพื้นฐานทุกคนต้องได้รับการประกันตัว” พร้อมทั้งถือดอกทานตะวันและภาพถ่ายทานตะวัน ตัวตุลานนท์
ในช่วงเย็นของวันนั้นยังมีกิจกรรมยืนหยุดขังที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ขณะนี้.
คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคต รายงาน
