
นักวิชาการ เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง
คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร รายงาน 29.4.65
คนส. ทำกิจกรรม “เยี่ยมหยุดขัง” นักโทษทางความคิด ด้านกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยยืนยันใส่เสื้อดำรับเสด็จไม่ผิดเงื่อนไขประกันตัว
วันนี้ (28 เมษายน 2565) เวลา 10.00 น. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รวมตัวกันทำกิจกรรม “เยี่ยม หยุด ขัง” ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
โดยกิจกรรมมีการอ่านแถลงการณ์โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ทำโพลในหัวข้อ “คุณคิดว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองควรได้รับสิทธิประกันตัวหรือไม่?” คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กิจกรรมฝากมอบโปสการ์ดกำลังใจจากมวลชนผ่านฑัณฑสถานหญิงกลางให้ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องขังคดี 112 ที่ถูกถอนสิทธิประกันตัวเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ได้นำอ่านแถลงการณ์ “หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์” ความว่า
ประชาชนไทยต้องอยู่ใต้การกดขี่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ที่รัฐบาลคณะรัฐประหารอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่เขียนขึ้นมา ปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม และจับกุมคุมขังxระชาชนฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลที่อวดอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับตั้งข้อหาดำเนินคดีประชาชนที่เห็นต่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 1,767 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 1,428 คน ตามด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 169 คน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำนวน 117 คน และกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 116 คน
การตั้งข้อหาดำเนินคดีเหล่านี้ ไม่อาจนับว่าเป็นไปเพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคมได้ หากแต่เป็นไปเพื่อกดปราบประชาชนที่เห็นต่างเป็นหลัก เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอ้างการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทว่า นอกจากการชุมนุมที่ผ่านมาไม่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อนที่จะนำไปสู่การอ้างได้ การรวมกลุ่มหรือการชุมนุมลักษณะเดียวกันของฝ่ายเดียวกับรัฐบาลกลับไม่ถูกตั้งข้อหา
ขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากจะมีปัญหาตั้งแต่ระดับของตัวบท กระบวนการบังคับใช้ในหลายกรณีไม่เข้าข่ายความผิด ไม่นับรวมวิธีการพิจารณาคดีที่ปิดลับจนไม่อาจนำไปสู่ความยุติธรรมได้ ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลายกรณีมีการตีความพฤติการณ์เกินขอบเขต ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน
นอกจากนี้ ผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้ยังมักถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว ด้วยเหตุผลว่า จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน ซึ่งขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด ทั้งที่กระบวนการพิจารณคดียังไม่เริ่ม และแม้การควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีจะกระทำได้ แต่ก็ต้องมีเหตุอันเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี ซึ่งแทบไม่มีผู้ต้องหาคนใดในคดีเหล่านี้มีพฤติการณ์ดังกล่าว
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้รัฐบาล หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีผู้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
นอกจากนี้ คนส. เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกตั้งข้อหา ต้องยึดมั่นในหลักการจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะควบคุมตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีก็ต่อเมื่อมีเหตุที่เข้าหลักเกณฑ์อย่างชัดแจ้ง และจะอ้างเงื่อนไขที่เป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าจำเลยกระทำผิดในการถอนประกันมิได้
ปัญหาและความขัดแย้งในประเทศไทยจะคลี่คลายได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระบนข้อเท็จจริงและด้วยเหตุผล โดยมีกฎหมายและศาลเป็นหลักประกันความเสมอภาคและยุติธรรม มิใช่เป็นเครื่องมือของเผด็จการในการกดปราบประชาชนที่เห็นต่างอย่างในปัจจุบัน
ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
28 เมษายน 2565
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้กล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมเชิงวิชาการมีสาระสำคัญว่าจะมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อประชาชนอยู่ที่ไหนในระบอบที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้สังคมไม่นิ่งดูดายต่อกรณีการจับกุมคุมขังนักโทษทางการเมืองคดี 112 ซึ่งตัวเลขพุ่งสูงในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และมักจะไม่ได้รับการประกันหรือถูกถอนประกัน ทำให้จะต้องทำความเข้าใจกฎหมายให้ชัดเจน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
ด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวขอบคุณ คนส. ที่มาทำกิจกรรมเยี่ยมหยุดขัง และกล่าวถึงกรณีการถอนประกันทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดยมีสาระสำคัญว่า ในขั้นตอนการฝากขังและประกันตัว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไข ห้ามทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบัน และห้ามชุมนุมที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย โดยวันนัดไต่สวน มีเหตุการณ์เพิ่มขึ้นอีก 2 เหตุการณ์ คือ 6 และ 15 เมษายนประกอบ ซึ่งหลักฐาน 2 หลักฐานนี้ ความจริงแล้วอยู่นอกการไต่สวนเพื่อเพิกถอนการประกันตัว เป็นประเด็นหนึ่งที่ทนายความ นักกฎหมาย เห็นว่าเป็นการเพิ่มหลักฐานนอกสำนวน เราจึงมาขอให้พิจารณาเพื่ออุทธรณ์ในศาลอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งหลักฐานนอกสำนวนนี้ เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนว่า การที่ทานตะวันใส่เสื้อสีดำ ยังไม่ได้ปรากฏเจตนาชัดเจน เพียงเป็นการเชิญชวน ซึ่งข้อที่เราสามารถขออุทธรณ์ต่อศาล
นอกจากนี้นายสมยศยังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า “ตะวัน ถือเป็นนักโทษที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ตามกฎหมายประมวลอาญา คดียังไม่สิ้นสุด จะปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขังไม่ได้ ในทางปฏิบัติ ทานตะวันอยู่ในฐานะผู้ต้องขัง จึงอยากเรียนให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้รับทราบว่า ทานตะวัน ยังไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด จึงมีสิทธิเสรีภาพในฐานะคนปกติ หรือพลเมืองของประเทศนี้ นั่นหมายความว่า คนส. สามารถเข้าเยี่ยมได้ หากไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ก็จะมีการลงบันทึกหลักฐาน และไปกราบเรียนให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบว่ายังมีการปฏิบัติต่อผู้บริสุทธิ์โดยไม่ให้สิทธิเสรีภาพอย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้พวกเรามาใช้สิทธิในวันนี้ และหวังว่าทางเรือนจำ ทัณฑสถานหญิงกลางจะเข้าใจ ว่าเขาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ควรที่จะติดต่อญาติ ติดต่อเพื่อนและสังคมได้ตามปกติ”
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลางได้ชี้แจงถึงกฎของกรมราชทัณฑ์ในการเข้าเยี่ยมนักโทษในช่วงกักตัวโควิด พร้อมรับปากประสานขอเข้าเยี่ยมจำนวน 5 รายชื่อ เป็นนักวิชาการของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง 3 คน และประชาชนอีก 2 คน ทั้งนี้นายสมยศ ในนามตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้มอบโปสการ์ดและโปสเตอร์ที่มีศิลปินจากเพจ Back Art สร้างสรรค์ขึ้นเป็นภาพตะวัน พร้อมกับข้อความที่ประชาชนได้เขียนถึงตะวันด้านหลังโปสเตอร์ฝากถึงตะวัน และส่งตัวแทนเข้าไปเพื่อสั่งซื้ออาหารและของใช้ให้กับทานตะวันและปฏิมา นักโทษคดีการเมืองในทัณฑสถานหญิงกลาง
ในเวลาต่อมาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดได้เดินเท้าจากทัณฑสถานหญิงกลางมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อขอเข้าเยี่ยมนักโทษทางการเมืองชาย ได้แก่ นายเอกชัย, นายเวหา, นายคทาธร, นายคงเพชร และนายพรพจน์.
คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร รายงาน 29.4.65



