บทความ

ชาวศรีลังกาลุกขึ้นสู้ ยึดทำเนียบรัฐบาล ตระกูลราชปักษาเผ่นหนี


สองพี่น้องตระกูลราชปักษา ซ้าย มหินทรา ขวา โกธา

ชาวศรีลังกาลุกขึ้นสู้ ยึดทำเนียบรัฐบาล ตระกูลราชปักษาเผ่นหนี

ศรีลังกา เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ ประชากร 22 ล้านคน ร้อยละ 70 นับถือพุทธศาสนาได้รับการขจนานนามว่า ‘ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย’ เป็นแหล่งพลอยสีน้ำเงินหรือพลอยไพลิน  ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งยังมีวัตถุดิบการเกษตรที่สำคัญ อาทิ มะพร้าว ชา มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง ศรีลังกามีระบบประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทุก 6ปี มีฐานะเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรี

ตระกูลราชปักษาหรืออาจเรียกได้ว่าพญาครุฑ เป็นตระกูลเจ้าของที่ดินในเมืองฮัมบันโททา ซึ่งรับมรดกตกทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ในปี 1994 นายมหินทา ราชปักษาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2005 โดยเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2005-2015 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามกลางเมือง ซึ่งรัฐบาลของชาวพุทธเชื้อสายสิงหลได้สู้รบกับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬมานานเกือบ 30 ปี

ในปี 2005 มหินทา แต่งตั้งน้องชายคือ โกตาบายา ราชปักษาเป็นรมต.กลาโหม ใช้นโยบายคลั่งชาติที่หนุนหลังโดยศาสนาพุทธและชาวสิงหล ด้วยความแข็งกร้าว งบประมาณรัฐถูกมาใช้ทางการทหาร มุ่งสังหารชนกลุ่มน้อยทมิฬที่นับถือฮินดูคาดว่าทำให้พลเรือนเสียชีวิตกว่า 200,000 ทหารกว่า 50,000 ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยทมิฬ คนหายคนตายไปจำนวนมาก จนประเทศตะวันตกหลายแห่งประณามรัฐบาลศรีลังกาละเมิดสิทธิมนุษยชน  ในขณะเดียวกันรัฐบาลมุ่งเน้นการใช้เงินไปกับโครงการขนาดใหญ่  สร้างถนนหนทางและท่าเรือ ยอมให้จีนเข้ามาลงทุนด้วยการยกเว้นภาษี รวมทั้งการลดภาษีด้านต่างๆ กระตุ้นการบริโภคเกินตัว เมื่อเจอกับการแพร่ระบาดโควิด ทำให้การท่องเที่ยวตกต่ำ ฐานะการคลังของรัฐบาลพังทลาย รัฐบาลจึงถังแตก เงินทุนสำรองร่อยหรอ  ทำให้ศรีลังกาไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาไฟฟ้าดับต่อเนื่องครึ่งค่อนวัน ปัญหาขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค

อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา แต่งตั้งเครือญาติและพวกพ้องเข้าปดำรงตำแหน่งการเมืองหลายคนด้วยกัน ผู้แทนต่างประเทศที่ไปติดต่อราชการถึงกับเคยประหลาดใจ  “ประเทศนี้ทุกคนนามสกุลราชปักษาหมดเลยหรือ” ผู้แทนจีนที่มาเยือนศรีลังกาถามขึ้นด้วยความประหลาดใจ หลังพบว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคนที่เขาได้ติดต่องานด้วย ล้วนแต่มีนามสกุลเดียวกันหมด

ประเทศศรีลังกาจึงล้มละลาย ชาวศรีลังกาต้องอดมื้อกินมื้อเพราะภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็น ต้องต่อแถวรอคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อหาน้ำมันเชื้อเพลิง กลายเป็นความเป็นจริงอันโหดร้ายของศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศทรัพยากรมากมายเคยมีภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้ปานกลาง  ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะถาโถมซัดเข้าใส่และฉุดศรีลังกาให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายในตอนนี้

ขบวนการนักศึกษา นักวิชาการ ประชาสังคม และสหภาพแรงงานผนึกกำลังกันจัดการชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ส่วนสหภาพแรงงานในศรีลังกาได้นัดหยุดงานพร้อมกันในวันที่ 20เมษายน  เพื่อประท้วงค่าครองชีพที่แพงขึ้น ขณะที่ค่าโดยสารรถสาธารณะเตรียมปรับขึ้นอีก 35% หลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้นเกือบ 65% ส่วนราคาขนมปังก็ปรับเพิ่มเกือบ 30%

การชุมนุมปักหลักยืดเยื้อจากคนเรือนหมื่น เป็นเรือนแสน ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจปราบปรามจลาจลหลายครั้ง จนรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินสั่งการให้นำกำลังทหารจำนวนมากเข้ามากรุงโคลัมโบ และ ตำรวจได้ขอให้ศาลอาญาออกคำสั่งพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ศาลอาญายกคำร้องของตำรวจโดยยืนยันว่า การชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ในวันที่ 9 กรกฏาคม  2565  ประชาชนเรือนแสนจึงบุกเข้าไปทั้งทำเนียบประธานาธิบดีและเผาบ้านพักส่วนตัว ทำให้ประธานาธิบดีต้องเผ่นหนีออกไปต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีประกาศลาออก เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วนของประชาชน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข 10.7.65