
ประยุทธ์ไปต่ออีก 2 ปีการันตีโดยศาลรัฐธรรมนูญ
หากย้อนไปดูตอนต้นเรื่องเมื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อ 16 ก.ค. 2562ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยจงใจตัดท่อนที่ว่า ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”ออกไป
เป็นที่ชัดเจนเลยว่า เป็นเจตนาของประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม.จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ2560 ทั้งๆที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ตัวเองในฐานะผู้นำการรัฐประหารร่างกันขึ้นมาโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้เพื่อให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอด 8ปี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมักเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ จันทร์ชา ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น”เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” (18 ก.ย. 2562) หรือในกรณี วินิจฉัย ประยุทธ์มีสิทธิ์ใช้บ้านพักรับรองของกกองทัพบกเนื่องจากเป็นอดีตผบ.ทบ. ( 2.12.63)
แนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นไปในทางเอื้อประโยชน์ที่จะสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่ประการใด เนื่องจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารและมาจากการสรรหาจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งสิ้นให้เข้ามาทำหน้าที่รักษาอำนาจประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ยาวนานต่อเนื่องกันถึง 8 ปีเต็ม
ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 158 จะระบุไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ซึ่งหมายถึงประยุทธ์ จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีในวันที่ 24 สิงหาคม 2568 แต่แล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ประวิตร วงศ์วุรรณ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ว่าพร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า “ผมจะไปพร้อมได้ไง ผมยังไม่ได้คิดเลย ยังไม่คิดเลย นายกฯ อยู่ต่ออีก 8 ปี เอ้ย อยู่อีก 2 ปี ก็ว่าไป”
ดังนั้นเมื่อพิจารณาในประเด็นที่ถวายสัตย์ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาประกอบกับช่วงเวลานี้ที่จะครบ 8 ปี สิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ประยุทธ์ ตอบผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า “ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน่น” และ “จะต้องกังวลอะไรเล่า” นั่นหมายความว่า ประยุทธ์มั่นใจศาลรัฐธรรมนูญจะตีความให้ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่า ฝ่ายค้านและนักกฎหมายจำนวนมากจะยืนยันว่า มาตรา 264 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการยืนยันชัดแจ้งว่า ประยุทธ์ ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีในวันที่ 24 สค.นี้
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายที่สนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ ยังออกมาอธิบายว่า จะยึดถือตามที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ บันทึกเจตนารมณ๋์มาตรา 158 ไว้ว่า ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่อาจยึดเป็นการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ หรือในบางความเห็นของนักกฏหมายระบุว่า “การอ่านและตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลายวรรคนั้น ต้องพิจารณาประกอบกันทุกวรรค มิใช่นำมาพิจารณาใช้เพียงวรรคเดียวโดยมิได้นำวรรคอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย” ดังเช่น การตีความที่ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2557 นั้น เปรียบเป็นค้างคาว แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 เปรียบเป็นนก เพราะอยู่ในสถาพการณ์ตามความในมาตรา 158 วรรค 2 นั่นหมายความได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความไปในทางที่จะต่ออายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หากตีความเช่นนี้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 ปี 1 เดือน 6 วันเท่านั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2562 มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง จึงนำเวลามารวมกันตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ได้ เมื่อนำมาตรา 170ที่ระบุว่า นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย
ดังนั้นหลังจาก 24 สิงหาคม 2565 ไปแล้วไม่เพียงแต่จะเกิดวิกฤติการเมืองในเรื่องความชอบธรรมของประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดวิกฤติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยและมีความก้าวหน้า มิเช่นนั้นแล้ว วิกฤติการณ์การเมืองจะวนลูปซ้ำซากอยู่อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ และประยุทธ์ จันทร์โชาก็จะยึดครองอำนาจรัฐไว้ได้ตราบชั่วอายุขัยไปตลอด
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 16.8.65
