
เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 353 บาท รายได้แรงงานยังอัตคัดเหมือนเดิม
19 สิงหาคม 2565 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาทเริ่มต้นบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต เพิ่มขึ้นมาที่ 354 บาท ส่วนกรุงเทพปริมณฑลขึ้นมาที่ 353 บาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้น 5.02% หลังจากกดทับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงบวันละ 331 บาทมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ในขณะที่ขบวนการแรงงานโดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 425 บาท เป็นไปตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ว่าตั้งแต่ปี 2562 ว่าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 425 บาท จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 20000 บาท อาชีวะ 18000 บาท ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้
หากพิจารณาถึงความหมายค่าจ้างขั้นต่ำตามความหมายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ( ILO) หมายถึงค่าจ้างที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิตของตนเองและสมาชิกครอบครัว2 คนด้วยแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 353 บาทยังต่ำอยู่มาก เพราะลำพังเพียงคนเดียวก็ถือว่าอยู่ในสภาพที่อัตคัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะเงินเฟ้อในเดือนกรกฏาคม2565อยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในปีต่อไป การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้จึงไม่สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นจริง
หากคำนวณค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำรงชีพของคนหนึ่งคนในกรุงเทพและปริมณฑลนั้นอันเปรียบเสมือนเป็นต้นทุนการออกแรงทำงานในหนึ่งวัน อาหาร 3 มื้อ อยู่ที่ 240 บาท การเดินทางวันละ 100 บาท ที่อยู่อาศัยวันละ 100 บาท รวมแล้ววันละ 440 บาท ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและพักผ่อน ซึ่งหากรวมค่าใช้จ่ายจำเป็นจริงๆแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำควรไปถึงวันละ 700 บาท
8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ทำเศรษฐกิจตกต่ำ ต่อเนื่อง มาโดยตลอดในปี 2565 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย( ADB) ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่ำสุดในอาเซียน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยขึ้นเป็นลำดับที่หนึ่งของโลก แรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยกว่า 2.1 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น สูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา
กำลังแรงงานมีจำนวน 38.41 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรจำนวน 10.58 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรมจำนวน 27.20 ล้านคน การกดทับค่าจ้างขั้นต่ำและรายได้ของคนทำงาน จะทำให้แรงงานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในสภาพยากจนข้นแค้น รายได้ไม่พอรายจ่าย มีหนี้สินล้นพ้นตัว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เพิ่มจากระดับ 80% มาเป็น 90% ราว 15 ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้
จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงถึงประมาณ 501,000 บาท เท่ากับว่า รายได้ของคนทำงานจำนวนมากถูกดูดไปให้สถาบันการเงิน จากการให้สินเชื่อเงินกู้ผ่อนบ้าน รถยนต์ ตัวอย่างชัดเจนก็คือ 10 แบงก์พาณิชย์ เปิดกำไรครึ่งปีแรก( 6เดือนแรกปี 2565)ทะลุ 1 แสนล้านบาท โต 8.1% รวมไปถึงการมูลค่ารวมทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทยทั้ง 50 รายชื่ออยู่ที่ 5.31 ล้านล้านบาท
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่น Credit Suisse ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานส่วนใหญ่จึงยากจน ไม่มีอำนาจซื้อ ทำให้การบริโภคหดตัวลง ทำให้เศรษฐกิจทั่วไปซบเซาเป็นอย่างมาก และจะเป็นเช่นนี้กันต่อไปภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา



