
คดี 19 กันยาระอุ
จำเลยและทนายความโต้แย้งขอให้ศาลออกหมายเรียกตารางการบินรัชกาลที่ 10 และงบใช้จ่ายราชการพระองค์ ทำให้ต้องเลื่อนไต่สวนไปเดือนหน้า
20กันยายน 2565 ศาลอาญารัชดาภิเษกชั้น 7 ที่ห้องประชุม 701 ศาลไต่สวนครั้งที่ 13 พยานโจทก์ปากแรกคดี 19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎรนัดที่ 13 แกนนำคณะราษฎร 19 คน ประกอบด้วย 1.พริษฐ์ ชีวารักษ์ 2.อานนท์ นำภา 3.ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม 4.สมยศ พฤกษาเกษมสุข 5.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 6.ภาณุพงษ์ จาดนอก 7.อรรถพล บัวพัฒน์ 8.ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 9.ธนชัย เอื้อฤาชา 10.สุวรรณา ตาลเหล็ก 11.ธานี สะสม 12.ณัฐชนนน ไพโรจน์ 13.อะดิศักดิ์ สมบัติคำ 14.ณัทพัช อัคฮาด รวมทั้งทนายความจำนวน 13 คน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยมีนายกมล สุปรียสุนทร ผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดี 19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร
ก่อนการสืบพยานนี้จำเลย 19 คนได้เขียนคำร้องโต้แย้งศาลกรณีไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารตารางการบินของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และงบประมาณในราชการส่วนพระองค์ เนื่องจาก ฝ่ายโจทก์ได้ฟ้องว่า แกนนำที่ปราศรัยบนเวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 กรณี กษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในช่วงเวลาระหว่างการชุมนุมประทับอยู่ประเทศเยอรมัน เป็นการพูดที่เป็นเท็จ ดังนั้นฝ่ายจำเลยจึงขอให้ศาลออกหมายเรียกหลักฐานตารางการบินและงบประมาณค่าใช้จ่ายในราชการพระองค์ เพื่อใช้ประกอบการซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ เป็นการให้โอกาสจำเลยต่อสู้อย่างเต็มที่ แต่ศาลไม่อนุมัติมาโดยตลอด
นอกจากนี้ทนายความกฤษฎางค์ นุตจรัส ยังได้แถลงต่อศาลขอให้อธิบดีศาลอาญามาร่วมการพิจารณาไต่สวน เนื่องจากการกระบวนการพิจารณาคดีนี้มักปรากฏว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนี้ต้องขอเวลานอกปรึกษาผู้บริหารหลายครั้งด้วยกัน
สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 แถลงต่อศาล จากการไต่สวนบัญชีพยานตามเอกสารวันที่ 8 เมษายน 2564 ลำดับที่ 46-47 ได้รับร่วมกันแล้วว่า ศาลจะออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ เพราะเอกสารอยู่ในครอบครองของหน่วยงานอื่น ฝ่ายจำเลยไม่สามารถขวยขวายหาได้ด้วยตนเอง เป็นพยานสำคัญในการซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ หากศาลไม่ออกหมายเรียก ย่อมสร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม การที่ในหลวงจะประทับอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย ด้านศาลแจงว่า ไม่เคยรับปากว่าจะออกหมายเรียกให้ในกรณีดังกล่าว.
ต่อมา สมยศลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้ตกลงว่าจะออกหมายเรียกเกี่ยวกับเอกสารการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงเสด็จประทับที่ประเทศเยอรมนีให้ หากศาลไม่สามารถออกให้ได้ ก็สงสัยว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมได้อย่างไร ที่สำคัญพยานเอกสารดังกล่าวจะช่วยให้สังคมไทยรับรู้ความจริง การที่ประมุขของรัฐจะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย แต่การที่ศาลไม่ออกหมายเรียกจะสร้างความเสียหายให้กระบวนการยุติธรรม.
ในประเด็นนี้ ศาลชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 มีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาเนื่องจากมีการโยกย้ายตามวาระ โดยขณะที่มีการรับปากว่าจะออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่จำเลยแถลงนั้น ศาลยังไม่ได้มาเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีนี้ เพราะฉะนั้น ศาลไม่ทราบเรื่องการออกหมายเรียกดังกล่าว หากเป็นสิ่งที่ศาลเคยรับปากไว้ ศาลก็จะทำตามข้อเรียกร้องของจำเลย
ทางด้าน พริษฐ์ ชีวรักษ์ จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่า สถาบันตุลาการจะต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง เพื่อความยุติธรรม หากให้เปรียบเทียบการที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารบางชิ้นให้ตามที่ฝ่ายจำเลยขอ คงจะเปรียบได้กับการต่อสู้บนเวทีมวยที่ฝ่ายโจทก์สวมเครื่องป้องกันเต็มที่ ส่วนฝ่ายจำเลยขึ้นชกตัวเปล่า การดำเนินกระบวนการยุติธรรมของศาลจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมหรือไม่.
“สถาบันตุลาการจะต้องใช้อำนาจถูกต้อง เป็นธรรม ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ชื่อของท่านจะถูกกล่าวถึงอย่างไรในวิชากฎหมาย” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
ต่อมานายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” ได้แถลงต่อศาล เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนพิจารณา จึงอยากเปลี่ยนองค์คณะพิจารณา เพื่อให้ดีกับทั้งตัวศาลและทางฝั่งจำเลยด้วยกัน
ระหว่างนี้ศาลยืนยันสืบพยานโจทก์ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐ์บรรณการ ต่อไป โดยที่ทนายความได้ลุกขึ้นมาคัดค้านการสืบพยาน เนื่องจาก ศาลยังไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ จนถึงเวลา 17.00 น.ในที่สุดศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ มีอัตราโทษสูง จำเลยประสงค์ต่อสู้คดีแต่ยังติดตามเอกสารประกอบการถามค้านไม่ได้ และเป็นพยานสำคัญ จึงได้เห็นว่าเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ประกอบกับฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน จึงให้เลื่อนนัดสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 21 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. และให้ยกเลิกนัดสืบพยาน 21-23 ก.ย. 2565
.


