
ประวิตร วงศ์สุวรรณ รับลูก แอมเนสตี้ จี้รัฐบาลหยุดใช้พรก.ฉุกเฉินก่อนการประชุมเอเป็ค
23.9.65 ทำเนียบรัฐบาล แอมเนสตี้ประเทศไทยกว่า 30 คน นำโดยน.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ พร้อมด้วยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย มาชุมนุมที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ประณามรัฐบาลประยุทธ์อ้างการแพร่ระบาดโควิดใช้พรก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของประชาชน ทำลายการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชน จนทำให้มีการดำเนินคดีแกนนำคณะราษฎรกว่า 1500 คน
อ.ชลิดา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า พรก.ฉุกเฉินมีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยกเว้นความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนทำให้มีการใช้พรก.ฉุกเฉิน คุกคามเสรีภาพประชาชน สามารถขยายการใช้พรก.ออกไปแบบไม่มีระยะเวลาแน่นอน การใช้พรก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ยิ่งมีการใช้พรก.มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเท่านั้น จึงเห็นสมควรยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ภายใต้พรก.ฉุกเฉินนาน 2 ปี 6 เดือน การใช้พรก.ฉุกเฉิน เป็นการทำลายสิทธิการชุมนุมของประชาชน แม้แต่คนที่เดือดร้อนมาร้องเรียนต่อรัฐบาลก็ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน มีการเลือกปฏิบัติ ถ้ามาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลก็ไม่มีการดำเนินคดีแต่ที่มีความเห็นแตกต่างก็จะถูกเล่นงานโดยอ้างพรก.ฉุกเฉินที่ผ่านมา มีการยกฟ้องในคดีพรก.ฉุกเฉินมาหลายคดีแล้ว ขณะนี้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ไม่มีเหตุจะใช้พรก.ฉุกเฉินอีกทั้งการประชุมเอเป็คจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้หากใช้พรก.ฉุกเฉินละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นวันนี้มีการประชุม ศบค.หวังว่าพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี จะใช้ความกล้าหาญยกเลิกพรก.ฉุกเฉินทันที
โดย น.ส.ปิยนุช โครตสาร กล่าวว่า ในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1,467 คน 647 คดี โดยมีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีด้วยจำนวน 241 คน สำหรับการมายื่นหนังสือของพวกเราครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลนำกฎหมายมาปิดปากประชาชนเพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมือง โดยข้อเรียกร้องของเรา ประกอบด้วย
1.ขอให้ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิ์ที่ได้รับรองในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง 2.ขอให้อนุญาตและคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใดๆ สามารถแสดงความเห็นของตัวเองและสามารถชุมนุมประท้วงโดยสงบได้ในพื้นที่อย่างปลอดภัย 3.ขอให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่พึงมีและได้รับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและตามรัฐธรรมนูญ
โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือและกล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องนี้ไปเสนอที่ประชุม ศบค.ในวันนี้ทันที
ล่าสุดเวลา 15.00 น.ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ที่มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี มีมติให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และยุบ ศบค. ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป






