ข่าว

ครย.112 ออกแถลงการณ์ล้างมรดกบาป 6ตุลายกเลิกมาตรา 112


ครย.112 ออกแถลงการณ์รำลึก 46 ปี 6 ตุลาคม 2519

คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) โดย ธนพร วิจันทร์ และ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ร่วมงานรำลึกเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2565 ที่บริเวณสวนประติมากรรม6ตุลา หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำพวงมาลาทำจากล่องกระดาษประดิษฐ์เป็นโรงละคร มีฉากม่านเป็นประตูแดงที่เป็นสถานที่ แขวนคอ 2 พนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคที่ออกติดโปสเตอร์ที่จังหวัดนครปฐมต่อต้านการกลับมาของทรราชถนอมกิตติขจรแล้วโดนตำรวจสังหาร นำศพไปแขวนคอ จนกลายเป็นชนวนนำมาสู่การใช้กำลังตำรวจ กระทิงแดง ลูกเสื้อชาวบ้าน ทำการล้อมปราบสังหารนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิต โดยที่ฆาตกรเหล่านี้ไม่มีใครถูกดำเนินคดี อีกทั้งผู้ก่อการสังหารประชาชนกลับได้ดิบได้ดีกันทุกคน แม้เวลาผ่านมาถึง 46 ปีแล้วก็ตาม แต่ประชาชนยังจัดงานรำลึกเพื่อทวงคืนความยุติธรรมในทุกๆปี

ทั้งนี้ธนพร วิจันทร์ แกนนำคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) กล่าวว่า การรำลึก46 ปีครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในปีนี้ ครย. เสนอคำขวัญว่า ล้างมรดกบาป 6 ตุลายกเลิกมาตรา 112  เป็นการรำลึกเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 อย่างมีความหมาย เพราะภายหลัง 6 ตุลา 2519 คณะรัฐประหาร ได้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 ให้มีโทษจำคุกที่รุนแรงถึง 15 ปี เพื่อปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้มีการใช้มาตรา 112 ทำลายล้างการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชน

ในขณะที่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผลหรือมายด์กล่าวว่า มาตรา 112 คือกำแพงขวางกั้นเสรีภาพ ปิดกั้นความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การยกเลิกมาตรา 112 จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชิปไตยและการทวงคืนความยุติธรรม คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112)จะเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนผนึกกำลังกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 กันต่อไป

ถัดจาก ครย. 112 เป็นการวางพวงมาลาจากกลุ่มทะลวังนำโดย ใบปอ และ บุ้ง โดย ใบปอได้แต่งชุดไทย ใส่รองเท้าส้นสูง ยืนเหยียบบนหลังของผู้แสดงเป็นศพผู้เสียชีวิตและนำสีแดงมาสาดลงบนพื้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฆาตกรในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังลอยนวลอยู่  ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่มาทำข่าวในวันนี้ แต่ภาพข่าวนี้ สื่อมวลชนหลายสำนักไม่สามารถรายงานข่าวได้ด้วยเกรงกลัวต่อมาตรา 112 ซึ่งการจัดงาน 46 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในปีนี้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีการเข้มงวดมากเป็นพิเศษในการควบคุมไม่ให้มีการพูดถึง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังสังหารหมู่ประชาชน

คณะราษฎรยกเลิก112 (ครย.112) เห็นว่า วิธีการหนึ่งที่จะรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา คือการล้างมรดกบาปของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยังคงบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ประชาชนคนใด ต้องถูกกลั่นแกล้ง ถูกไล่ล่าหรือถูกจัดการเพียงเพราะความแตกต่างทางความคิด ดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือช่วงเวลาใกล้เคียงอีก

แถลงการณ์ ครบรอบ 46 ปีเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ล้างมรดกบาป 6 ตุลา ยกเลิกมาตรา 112
คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112)

รำลึกเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2565

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กำลังตำรวจ พร้อมด้วยกลุ่มพลังฝ่ายขวา ทั้งลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มนวพล ใช้กำลังเข้าล้อมปราบประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้อย่างโหดเหี้ยม ภาพศพที่ถูกตอกหน้าอกด้วยลิ่มไม้คล้ายทำพิธีฆ่าผีดิบ และภาพการเอาศพไปแขวนคอก่อนกระหน่ำตีด้วยเก้าอี้ท่ามกลางรอยยิ้มของคนที่มุงดูคล้ายสนุกสนานกับการชมมหรสพ เป็นเพียงตัวอย่างของเหตุการณ์ป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ที่ที่ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการสังหารโหดหลายคนน่าจะยึดถือว่าเป็นที่ศักดิสิทธิ์

ไม่น่าเชื่อว่า 46 ปี ผ่านไป จากย่ำรุ่งวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2565 การไล่ล่าคนเห็นต่างทางการเมืองอย่างเป็นระบบทั้งโดยรัฐและกลุ่มพลังฝ่ายขวายังคงดำเนินไป แม้จะยังไม่มีข่าวการทำร้ายร่างกายประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันจนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาเหมือนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่กลุ่มพลังฝ่ายขวาในปัจจุบันได้ใช้อาวุธทางกฎหมายคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จัดการกับคนที่มีความเห็นแตกต่างกับตัวเองอย่างเป็นระบบ ทั้งการไปแฝงตัวสอดส่องในช่องทางออนไลน์ต่างๆ และการไปร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีในลักษณะเหมือนมีเจตนาให้ผู้ที่แสดงความคิดเห็นต้องเดินทางไปต่อสู้คดีในจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มเติมจากความเดือดร้อนที่ถูกดำเนินคดี

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่อย่างน้อย 2 ประเด็น ประเด็นแรกในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 หรือ 16 วันหลังเหตุการณ์นองเลือด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกเพิ่มโทษโดยคำสั่งของคณะทหารที่ยึดอำนาจในค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และประเด็นที่สองข้อกล่าวหา “ล้มล้างสถาบัน” ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบกับฝ่ายที่มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจหรือคนที่ตั้งคำถามถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ แต่ด้วยบริบทโลกที่เปลี่ยนไป กฎหมายโดยเฉพาะมาตรา 112 ได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธหลักแทนการใช้ปืนหรือระเบิดดังเช่นในยุคก่อน

คณะราษฎรยกเลิก112 (ครย.112) เห็นว่า วิธีการหนึ่งที่จะรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา คือการล้างมรดกบาปของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยังคงบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ประชาชนคนใด ต้องถูกกลั่นแกล้ง ถูกไล่ล่าหรือถูกจัดการเพียงเพราะความแตกต่างทางความคิด ดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือช่วงเวลาใกล้เคียงอีก

การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เพียงป้องกันการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามซึ่งจะส่งผลเสียต่อสถาบันฯเองในระยะยาว หากแต่ยังทำให้คนในสังคมไทยได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้ที่มีความเห็นต่างได้อย่างมีวุฒิภาวะ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 46 ปีที่แล้วอีก ส่วนในอนาคตหากสภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนของปวงชนจะจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่มาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ล้างมรดกบาป 6 ตุลา ยกเลิกมาตรา 112
คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112)

6 ตุลาคม 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์