แรงงาน

วันแรงงานข้ามชาติสากล สหภาพคนทำงานร้องรัฐมนตรีแรงงานแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ


วันแรงงานข้ามชาติสากล สหภาพคนทำงานร้องรัฐมนตรีแรงงานแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ

ศตวรรษที่ 21 ในยุคโลกาภิวัฒน์ เป็นช่วงเวลาแห่งการย้ายถิ่นข้ามชาติ และปรากฏการณ์นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมโลกอย่างมหาศาล องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้  วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปีเป็น“วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day)  หลังจากจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เป็นการให้ความสำคัยกับแรงงานข้ามชาติเพื่อให้ ได้รับการคุ้มครองแรงงานและสิทธิมนุษยชน ให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติในทุกมิติ

วันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม 2565 สหภาพคนทำงานโดยธนพร วิจันทร์ได้จัดให้มีการสัมมนาระดมความคิดเห็นจัดทำข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาลที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ โดยมีแรงงานข้ามชาติ พม่า กัมพูชา ไทย จำนวน 30 คนเข้าร่วมการสัมนาดังกล่าว

ในประเทศไทยแรงงานข้ามชาติจากเมียนมา กัมพูชา ลาวและอื่นมีจำนวนถึง 4 ล้านคน กรมการจัดหางานได้รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน2565 ว่า มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานมีจำนวน 2,891,807 คน ส่วนที่เป็นการเข้ามาแบบผิดกฎหมายและทำงานตามที่ต่างๆมีจำนวนราว 1.2 ล้านคน 90 เปอร์เซ็นต์มาจากพม่า กัมพูชา ลาว

แรงงานหญิงชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในโรงงานอีเล็คโทรนิคแห่งหนึ่งจ.ปทุมธานี  กล่าวว่า เธอต้องจ่ายค่าเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนเงิน 20000 บาท ได้ค่าจ้างวันละ 354 บาท ทำงานครบปีต้องจ่ายให้นายหน้าเป็นค่าต่ออายุการทำงานและค่าธรรมเนียมตรวจคนเข้าเมืองเหมาจ่ายอีก 15,000 บาท หากไปดำเนินการเองก็จะถูกไล่ออกจากงาน

ธนพร วิจันทร์ กล่าวถึงเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน ลงพื้นที่บริเวณถนนเจริญพัฒนา ซอยสุเหร่าคลอง 1 (ซอยกีบหมู) แขวงบางชัน เขตคันนายาว จ.กรุงเทพฯ จับกุมแรงงานข้ามชาติ จำนวน 102 ราย ซึ่งธนพร ระบุว่า ปัญหาคือเมื่อจับไปแล้ว ตำรวจรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ คนละ 5,000 บาท เพื่อให้ปล่อยตัว จึงฝาก สตช.ช่วยตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ เพราะว่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของตำรวจไทย และระบุว่าเธอไม่มีปัญหาหากกระบวนการจับกุมแรงงานข้ามชาติเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งถ้าพบว่าผิด ก็สามารถผลักดันกลับ

นาพรหมกานต์ จันทีชื่น คนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าเบอร์รี่ที่สวีเดนกล่าวว่า กระทรวงงานเชิญชวนให้ไปทำงานที่สวีเด็นได้ค่าจ้างดี แต่ไปถึงสภาพการทำงานที่แย่มาก อาหารคุณภาพต่ำ ต้องตื่นแต่ตีสี่ไปทำงานในป่าจนถึง 23.00 น.จึงกลับมานอน เมื่อป่วยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล หลังจากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วไม่ได้ค่าจ้างตามสัญญาจ้าง ได้ร้องเรียนกรมการจัดหางาน ไม่มีการดำเนินคดีต่อนายจ้างและยังได้ร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น.สหภาพคนทำงาน โดย ธนพร วิจันทร์ และ คณะ 10 คน ได้ไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานนายสุชาติ ชมกลิ่น โดยมี  นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมหารือ และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมจัดหางาน รับหนังสือแทน ณ ห้องกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน โดยมีข้อเสนอต้องลดเงื่อนไขขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย และพัฒนาศูนย์บริการจัดหางานเบ็ดเสร็จ One Stop Service ต้องแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ เร่งรัดให้ดำเนินคดีนายจ้างที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนทดแทน และสิทธิการเลือกคณะกรรมการประกันสังคม เวลา 15.00 น. ยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในประเด็นให้ตรวจสอบตำรวจเก็บส่วยแรงงานข้ามชาติคนละในซอยกีบหมูและให้ดำเนินคดีนายจ้างที่ส่งแรงงานไทยไปสวีเดนฐานฉ้อโกงแรงงาน  

สมยศ พฤกษาเกษมสุข รายงาน 18.12.65

20 ธันวาคม 2565

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

เรื่อง ข้อเสนอการพัฒนาการบริหารจัดการและการเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองเนื่องในวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล

เนื่องว่าในวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล หรือ International Migrants Day ตามประกาศ องค์การสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทั่วโลกได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ได้เปิดพื้นที่รับฟังและรวบรวมปัญหา-ข้อเรียกร้องของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นกลุ่มต่าง ๆ ในไทยต่อการบริหารจัดการการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทยและกรณีคนไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอต่อไปนี้

  1. ต้องลดเงื่อนไขขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย และพัฒนาศูนย์บริการจัดหางานเบ็ดเสร็จ One Stop Service ทั้งที่มีลักษณะเป็นสำนักงานบริการประจำในพื้นที่ และในลักษณะออนไลน์ เพื่อลดภาระของแรงงานและนายจ้าง 
  2. ต้องแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ 
  3. ต้องปรับปรุงระบบจัดหางานที่กำหนดให้จัดทำผ่านบริษัทเอกชน กำหนดให้มีการจัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา ระบบการรับร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย มีกลไกติดตามตรวจสอบให้บริษัทเอกชนรับผิดชอบ เพื่อไม่เป็นการผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินทางไปหลายแห่ง หลายครั้ง
  4. ต้องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อบริษัทนายหน้า หรือนายจ้างฉ้อโกง สูญเสียเงิน และเอกสารประจำตัว จนไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานตามกฏหมายได้ตามที่กฎหมายกำหนด 
  5. ให้กระบวนการเอาผิดกับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการที่นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวเหมาช่วง จ้างทำของ   พระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม และพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน 
  6. เสนอให้กรรมการบริหารกองทุนเงินทดแทนพิจารณาออกระเบียบการเข้าถึงกองทุนโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ หรือการเข้าเมืองผิดกฎหมายของผู้เสียหาย โดยเปรียบเทียบกับระเบียบของกองทุนยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม
  7. กระทรวงแรงงานต้องยืนยันหลักการการมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริงผ่านการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตนโดยต้องไม่กำหนดให้เฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
  8. ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการบังคับให้บริษัทจัดหางานคนไทยไปต่างประเทศ ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้อย่างรวดเร็ว ให้ประสานกับประเทศปลายทางที่แรงงานไทยไปทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบบริษัทในประเทศปลายทางที่รับคนไทยทำงานว่าดำเนินการตามกฎหมายของประเทศปลายทางถูกต้องหรือไม่

สุดท้ายนี้ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และการบริหารจัดการแรงงานต้องอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้แบ่งแยกสัญชาติ เพศสภาพ หรืออื่น ที่ไม่ได้แบ่งแยกผู้คนผู้คนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ  ตามสำนึกชาตินิยม เนื่องจากทุกคนคือแรงงาน ที่มีความเป็นพี่น้อง ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวไม่ต่างกัน