กระบวนการยุติธรรม ข่าว

แผ่นดินไหว ผลสะเทือน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม


แผ่นดินไหว ผลสะเทือน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม

ปฏิบัติการพลีชีพของตะวันและแบมตั้งแต่ที่ได้อดอาหาร อดน้ำ โดยมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ปฏิรูปยุติธรรม ยกเลิกมาตรา 112  จนถึงวันนี้กว่า 16 วันแล้ว เป็นการสั่นสะเทือนอำนาจตุลาการในพระปรมาภิไธยของกษัตริย์อย่างไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือ แกนนำราษฎรที่ถูกพันธนาการด้วยกำไลEM  ได้รับการปลดปล่อยเกือบจะหมดสิ้น นักโทษการเมือง 112 ส่วนหนึ่งได้รับการประกันตัวออกมา  ส่วนที่เหลืออีก 15 คน อยู่ในกระบวนการขอให้มีการปล่อยตัวต่อไป ในด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมได้ขานรับในการเริ่มต้นไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ส่วนข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยการยกเลิกมาตรา 112และ116 อย่างน้อยมีพรรคสามัญชน ที่ชัดเจนในการยกเลิกมาตรา 112 พรรคก้าวไกล เดินหน้าการแก้ไขมาตรา 112ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น  ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้แสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นอย่างน้อยที่สุดตระหนักถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 และ การผลักดันให้เกิดพื้นที่ของการพูดคุยในประเด็นนี้เพื่อนำไปสู่ฉันทามติของสังคมต่อไป การยื่นญัตติด่วนในปัญหาการใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างล้นเกิน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเมื่อวันที่ี 1กุมภาพันธ์ 2566 ได้อภิปรายตระหนักถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาผู้แทนราษฎรไทย

ผลสะเทือนอีกด้านหนึ่งขบวนการเคลือ่นไหวของราษฎรที่เคยเงียบเหงาถูกปลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยกิจกรรมยืนหยุดขังกว่า 10 จังหวัด กลุ่มทะลุฟ้า ปักหลักชุมนุมทึี่หน้าหอศิลป์กว่าสองสัปดาห์ ทะลุวัง โมกหลวง 24 มิถุนา ขับเคลื่อนการชุมนุมหน้าศาลฎีกา กลุ่มมวลชนอิสระ ศิลปินราษฎร ปักหลักที่หน้าศาลอาญา ทะลุแก๊ส ชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ องค์การนักศึกษา 10 สถาบันรวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อศาลอาญา นักวิชาการนิติศาสตร์ เรียกร้องศาลอาญาปล่อยตัวนักโทษการเมือง ฯลฯ ในภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 8 องค์กรด้วยกัน ได้มีแถลงการณ์สนับสนุน 3ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม และจะเดินหน้า ผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป ในส่วนของคณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย.112) ได้ประกาศการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่จะให้ศาลเป็นอิสระ โดยให้ประมุขศาลทุกศาลมาจากการเลือกตั้งหรือการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งการปฏิญาณตนต่อรัฐสภาก่อนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

วันที่4 ก.พ. 2566) ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว “ก้อง” หรือ อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นศ.นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง วัย 23 ปี ในคดี มาตรา 112 กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีก้องถูกศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาจำคุกคดี 112 รวม 15 ปี ก่อนลดเหลือ 5 ปี 30 เดือน (ประมาณ 7 ปี 6 เดือน) ทำให้ก้องถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่ 21 ธ.ค. 2565.

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ทนายความกฤษฎางค์ นุตจรัส และ ครอบครัวของตะวันและแบมได้แถลงข่าวอาการของสองคนอยู่ในขั้นวิกฤติโดยทั้งสองคนยืนยันจะอดอาหารและน้ำต่อไปเรียกร้องให้ศาลอาญาปล่อยตัวนักโทษการเมือง 15 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

การต่อสู้ของคนทั้งสองคนถึงกับทำให้แผ่นดินไหว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงเป้าหมายใหญ่ทั้งสามข้อแต่ได้ทำให้สังคมตระหนักร่วมกันในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร เป็นจุดเริ่มต้นก้าวไปสู่ 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม  

สมยศ พฤกษาเกษมสุข