ข่าว

เครือข่ายแรงงานตอบโต้สุชาติ ชมกลิ่น บิดเบือนกรณีแรงงานข้ามชาติถือป้ายยกเลิกมาตรา 112


เครือข่ายแรงงานตอบโต้สุชาติ ชมกลิ่น บิดเบือนกรณีแรงงานข้ามชาติถือป้ายยกเลิกมาตรา 112

ตามที่เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและสหภาพคนทำงานจัดงานวันกรรมกรสากลในตอนเช้าที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและในตอนเย็นที่หน้าหอศิลป์ โดยปรากฏว่ามีแรงงานข้ามชาติชาวพม่ามาเข้าร่วมการชุมนุมและถือป้ายยกเลิกมาตรา 112 โดยนายสุชาต  ชมกลิ่นรัฐมนตรีกระทรงงานระบุว่า แรงงานต่างชาติ’ ทำผิด เข้าข่าย ม.112 หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะมีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น โดยะนพร วิจันทร์ ได้แถลงการณ์ระบุว่า ป้ายข้อความปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ และยกเลิกมาตรา 112 เป็นป้ายที่จัดทำโดยคนงานไทย แรงงานข้ามชาติชาวพม่าและกัมพูชามาเข้าร่วมวันกรรมกรสากลตามประเพณีปฏิบัติที่กรรมทั่วโลกต้องสามัคคีกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องป้ายข้อความดังกล่าว การข่มขู่คุกคามแรงงานข้ามชาติในเรื่องนี้จึงไม่ถูกต้อง

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงเป็นเหมือนพี่น้องกับแรงงานไทย รัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ควรปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่ข่มขู่คุกคามตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่นแถลงไว้เพราะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังนั้นข้อเรียกร้องให้หยุดการทำร้ายแรงงานข้ามชาติ หยุดการกดขี่เอาเปรียบ ยกเลิกระบบนายหน้าค้ามนุษย์ และหยุดการเก็บส่วยแรงงานข้ามชาติ

แถลงการณ์ชี้แจงกิจกรรมวันกรรมกรสากล 2566
ตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานข่มขู่ฟ้องมาตรา 112 กับแรงงานข้ามชาติ

โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ร่วมกับสหภาพคนทำงาน, Migrant Working Group (MWG) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เวลา 11:00 น. ณ กระทรวงแรงงาน


                เมื่อวันกรรมกรสากล ที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิแรงงาน ได้แก่ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับสหภาพคนทำงาน, Migrant Working Group (MWG) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้เดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงานเหมือนทุกปี แบ่งเป็นกิจกรรมช่วงเช้าที่บ้านพิษณุโลกถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ และช่วงบ่าย-เย็นที่
สี่แยกราชประสงค์ถึงหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (BACC) โดยในปีนี้เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง องค์กรผู้จัดกิจกรรมจึงมิได้เรียกร้องเฉพาะคุณภาพชีวิตที่ดีในรั้วที่ทำงานของเราเท่านั้น แต่ได้พูดถึงข้อเสนอเชิงนโยบายอื่นๆ ในระดับประเทศที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่อผู้ใช้แรงงานด้วย ดังที่ปรากฏป้ายที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ และกฎหมายมาตรา 112 ดังปรากฏในข่าว

                เนื่องจากภายหลังกิจกรรมจบ มีการปลุกระดมด้วยข้อมูลเท็จ (disinformation) และข้อมูลบิดเบือน (misinformation) จากสื่อมวลชนฝ่ายขวาจำนวนมาก เช่น ไทยโพสต์ ท็อปนิวส์ รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ข่มขู่ผ่านเพจส่วนตัวว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายมาตรา 112 กับแรงงานข้ามชาติที่ร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีการสั่งการให้กรมจัดหางานตามหาตัวแรงงานที่เข้าร่วมกิจกรรมวันกรรมกรสากล และให้ตำรวจโทรข่มขู่แรงงานข้ามชาติหลายต่อหลายครั้ง ยังไม่นับผู้นำแรงงานบางรายที่สนับสนุนให้มีการ “จัดการขั้นเด็ดขาด” ต่อแรงงานไทยที่เป็นองค์กรร่วมจัดกิจกรรม และกล่าวหาว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนไม่รู้เรื่องราว หวังเพียงได้ค่าเดินทางมาร่วมกิจกรรมเท่านั้น

                เครือข่ายแรงงานฯ ร่วมกับสหภาพคนทำงานและ MWG ขอชี้แจงว่า ในวันที่จัดกิจกรรม แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาได้ปราศรัยเรื่องการถูกกีดกันจากสิทธิประโยชน์ประกันสังคม และความเจ็บปวดจากการถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลไทยอย่างสองมาตรฐานในฐานะ “แรงงานต่างด้าว” โดยปรากฏมีป้าย “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการฯ” ที่ถือโดยผู้ชุมนุมคนไทยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเป็นฉากหลัง ซึ่งไม่เกี่ยวกันกับเนื้อหาที่แรงงานข้ามชาติรายดังกล่าวพูดถึง

                ในโลกสากล การชุมนุมในวันกรรมกรสากลเพื่อบอกเล่าความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ตระหนักถึงสิทธิของตัวเองพึงกระทำ มิใช่เรื่อง
“อกตัญญูต่อชาติ” หรือเป็นความ “ไม่เจียมตัว” อย่างที่สื่อฝ่ายขวานำเสนอ แรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้าร่วมขบวนดังกล่าวเป็นแรงงานเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ได้สร้างคุณปการอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย และมีความชอบธรรมอย่างที่สุดที่จะมีพื้นที่บอกเล่าความเดือดร้อนของตัวเองในวันกรรมกรสากล และเราเชื่อว่าคนไทยอื่นๆ ที่มาร่วมขบวนกับเราก็มีความชอบธรรมที่จะถือป้าย “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการฯ” เพื่อบอกเล่าความเดือดร้อนของตัวเองไม่ต่างกัน

                องค์กรร่วมจัดงานวันกรรมกรสากล ขอยืนยันว่าที่ผ่านมากฎหมายมาตรา 112 เป็นกฎหมายริดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมถึงกลั่นแกล้งประชาชนผู้ใช้แรงงานมายาวนาน ผลกระทบของการฟ้องปิดปากไม่เพียงแต่ทำลายเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงปากท้องของพี่น้องแรงงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมและฟ้องร้องผู้บริสุทธิ์ การกลั่นแกล้งให้ผู้ต้องหามีภาระทางการเงินจากการเดินทางไปขึ้นศาล หรือการขู่ฟ้องเพื่อปิดปากไม่ให้แรงงานข้ามชาติได้ออกมาพูดเรื่องปัญหาความเดือดร้อนในฐานะแรงงาน (ที่แม้ไม่เกี่ยวอะไรกับสถาบันกษัตริย์) ก็พูดไม่ได้เพราะรัฐมนตรีแรงงานขู่จะเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน

                องค์กรร่วมจัดกิจกรรมขอแสดงห่วงใยไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ที่ได้พลั้งพลาดแอบอ้างสถาบันกษัตริย์โดยมิบังควรเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง และขอเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้นายสุชาติ –ในฐานะจำเลยที่ 2– หันมามุ่งมั่นตั้งใจในการต่อสู้คดีที่ประชาชนฟ้องร้องกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ กีดกันไม่ให้ผู้ประกันตนข้ามชาติได้เลือกคณะกรรมการฯ และจงใจปล่อยให้คณะกรรมการชุดแต่งตั้งโดย คสช. ดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 8 ปี ปัจจุบันคดีนี้อยู่ที่ศาลปกครอง

                เครือข่ายแรงงานฯ ร่วมกับสหภาพคนทำงานและ MWGขอเรียกร้องต่อรัฐบาลในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับแรงงานไทย  ยกเลิกนายหน้ากินหัวคิวแรงงานข้ามชาติ  ยกเลิกการเก็บสวยแรงงานข้ามชาติ ในหลักการคนเท่ากันทุกสัญชาติ สิทธิแรงงาน และประชาธิปไตย

            เราขอประนามนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน, สื่อมวลชนฝ่ายขวาที่ปลุกระดมความเกลียดชังต่อพี่น้องแรงงานเพียงเพราะมีสัญชาติหรือความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เหมือนกับตน, อธิบดีกรมจัดหางาน เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และตำรวจทุกนายที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามประชาชน และขอประนามผู้นำแรงงานทุกคนที่ปากอ้าง “แรงงานทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” แต่สนับสนุนให้มีการฟ้องปิดปากแรงงานข้ามชาติเพื่อหวังประจบประแจงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

                การกระทำที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีอุดมการณ์ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่เรียกตัวเองว่านักการเมือง รัฐมนตรี สื่อมวลชน ตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และผู้นำแรงงาน

ด้วยความเคารพในสิทธิแรงงานและประชาธิปไตย
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
ร่วมกับสหภาพคนทำงาน และ Migrant Working Group (MWG)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.