อาจารย์บุญเลิศ ฝากถึงกปปส.ให้พิจารณาผลงานประยุทธ์เหมือนตอนยิ่งลักษณ์ ชวนทุกสีเสื้อ หยุดระบอบประยุทธ์ เพื่อสร้างประเทศเป็นประชาธิปไตย ก่อนจะสายไปเหมือนฟิลิปปินส์
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่ม People Go Network นัดหมายทำกิจกรรม ‘เปิดไฟให้ดาว Finale-Light Up Freedom We have a Dream – เรายังฝันอยู่’ โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นกล่าวปราศรัยในหัวข้อ ‘ฝันว่าไม่มีเผด็จการ 7 ปี ของความถดถอย ยังไม่สายสำหรับการกลับตัวใหม่’ ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันหยุดการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ และร่วมสรรสร้างประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำรอยอย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่คนหนุ่มสาวออกนอกประเทศไปหาขวนขวายหาสิ่งที่ดีกว่า พร้อมทั้งเชิญชวนผู้สนับสนุนม็อบ กปปส.หันมาพิจารณาผลงานรัฐบาลประยุทธ์โดยใช้บรรทัดฐานเดียวกับที่เคยพิจารณารัฐบาลยิ่งลักษณ์

สำหรับเนื้อหาการปราศรัยนั้น ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้กล่าวปราศรัยมีรายละเอียดดังนี้.
สวัสดีพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านนะครับ ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มายืนบริเวณลานหน้าหอศิลป์แห่งนี้ เพราะพื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของการต่อต้านรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คือ 1 วันหลังรัฐประหาร ก็มีคนมาปรากฏตัวที่นี่เพื่อแสดงตัวต่อต้านการรัฐประหาร และยิ่งไปกว่านั้น 1 ปี หลังการรัฐประหาร มีกลุ่มนักศึกษาเช่น รังสิมันต์ โรม, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หรือ หนุ่ย ม.เกษตร มารวมตัวที่นี่อีกครั้งหนึ่ง และปีที่ผ่านมาพื้นที่ตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ของการชุมนุมของนักศึกษาอยู่หลายครั้ง ตนถือว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ตนขอคารวะประชาชนผู้รักในประชาธิปไตยที่ได้มาแสดงตนคัดค้านการรัฐประหาร ท่านทั้งหลายคู่ควรแก่การยกย่องในฐานะผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาว่า ในช่วงเริ่มต้นของการคัดค้านรัฐประหารยังมีคนกล้าแสดงตัวคัดค้านไม่มากนัก ท่านเหล่านั้นจึงเป็นบุคคลที่กล้าหาญคู่ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง ผมขอแสดงความนับถืออย่างใจจริง
เมื่อพูดถึงคนรักประชาธิปไตยที่เริ่มต้นต่อต้านการัฐประหารแล้ว เราก็ย่อมอดพูดถึงกลุ่มคนหรือกระแสสังคมที่เคลื่อนไหวก่อนมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคมไม่ได้ คนกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่ต่อต้านการเลือกตั้งด้วย นั่นหมายความว่าหลังจากที่คุณยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ต่อต้านการเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวเช่นนี้มองเป็นทางอื่นไม่ได้ นอกเสียจากเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มระบอบ ล้มกติกาตามรัฐธรรมนูญ เป็นการเชื้อเชิญให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารปี 2557 ขอแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย.

บัดนี้เวลาผ่านไป 7 ปีแล้ว ผมอยากจะขอเชิญชวน ผู้ที่เคยเดินตามคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. ภายใต้คำขวัญปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ขอให้ท่านช่วยพิจารณาผลงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วยบรรทัดฐานเดียวกันที่ท่านเคยวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ แล้วถามตัวเองว่า 7 ปีที่ผ่านมา นี่หรือคือผลพวงที่ดีของการเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เรื่องแรกลองสมมติดู ยกตัวอย่าง หากมีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ และรองนายกฯ คนนี้มีนาฬิกาหรู 22 เรือน มูลค่า 30 ล้าน มีคนยื่นเรื่องให้ไปตรวจสอบที่ ปปช. แต่ ปปช.ไม่กล้าที่จะเรียกรองนายกฯ คนใหญ่คนโตไปสอบสวน และก็สรุปแบง่าย ๆ ว่า นาฬิกายืมเพื่อนมาและตอนนี้คืนเพื่อนไปแล้ว และเรื่องนี้ก็จบลงแล้วไม่ต้องสอบสวนต่อ ตนสงสัยว่าหากกรณีนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งคนที่เคยเรียกร้องการรัฐประหาร ท่านจะอยู่เฉย ๆ ยิ้มแหะ ๆ ยอมรับได้เหมือนตอนนี้หรือเปล่า ทำไมท่านไม่คาใจเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ ทำไมท่านไม่สงสัยว่างองค์กรอิสระ ไม่อิสระจริง ทำไมท่านไม่สงสัยว่าองค์กรอิสระเกรงใจผู้มีอำนาจหรือเปล่า เหมือนกับที่ท่านเอาเป็นเอาตายเหลือเกินในสมัยสงสัยองค์กรอิสระช่วงสมัยระบอบทักษิณ.
สำหรับประเด็นเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง จริยธรรมของนักการเมืองขั้นพื้นฐานที่สุดคือเราจะทำอย่างไรที่จะหาคนมือสะอาดเข้าสู่การเมือง รัฐบาลชุดนี้มีรัฐมนตรีคนหนึ่งถูกสื่อขุดคุ้ยว่าเคยต้องคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาเขาอภิปรายตอบหน้าตาเฉย แอ็คชั่นราวกับเป็นนักแสดงว่าเป็นการเข้าใจผิด ไม่ใช่ยาเสพติด มันคือแป้ง แต่เรื่องนี้ก็มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ คดีของรัฐมนตรีคนนี้ในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐมนตรีคนนี้ต้องคดียาเสพติดจริง แต่ไม่หลุดจากตำแหน่งเพราะจะหลุดจากตำแหน่งก็ต้องเป็นคำพิพากษาในประเทศไทย ดังนั้นเขาจึงอยู่ในตำแหน่ง ผมขอถามจริง ๆ ว่าคนที่เชียร์รัฐบาลชุดนี้ หากกรณีททำนองนี้เกิดขึ้นที่มีหัวหน้ารัฐบาลไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ที่มาจากการรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีไม่ปรับรัฐมนตรีคนนี้ออกจาก ครม. ผมถามจริง ๆ ว่าในยุคก่อนหน้านี้องค์กรที่เรียกร้องจริยธรรมของนักการเมืองทั้งหลาย จะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เงียบไปได้หรือเปล่า ตนขออนุญาตถามไปยังคนที่ลงแรง เหนื่อยยากลำบาก ไม่เพียงแต่การขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และที่ขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อให้มีการรัฐประหาร ผมถามจริง ๆ ว่า กรณี นาฬิกายืมเพื่อน และ กรณีมันคือแป้ง คือบรรทัดฐานที่ดีขึ้นของการเมืองไทยในความคาดหวังของท่านหรือเปล่า.
ผมได้เคยทำวิจัยและสอบถามคนที่ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือปัญหาน้ำท่วม ผมอยากจะใช้บรรทัดฐานนี้ในการพิจารณาว่าประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์) ว่ารับมือกับปัญหาโควิดเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่าจะเปิดระบบให้ฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน แต่ผ่านไปไม่ทันข้ามคืนนายกรัฐมนตรีมาบอกว่าเบรกไม่เอาระบบวอล์กอิน แล้วมาพูดใหม่ว่าระบบออนไซต์ รีจิสเตอเรชั่น ตกลงมันแปลว่าอะไรกันแน่ ทำเอาประชาชนงงทั้งประเทศ มาถึงเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน รัฐบาลทำสัญญาผูกขาด กับ 2 บริษัทเท่านั้น คือ แอสตร้าเซเนก้า และ ซิโนแวค ทำให้ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมต้องเจาะจงเฉพาะกับ 2 บริษัทนี้เสมือนกับการผูกขาด มาลองคิดดูว่าถ้าการผูกขาดวัคซีนเช่นนี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลก่อนหน้านี้จะถูกขุดคุ้ย จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์กับใครหรือเปล่า แต่เรื่องเหล่านี้กลับเงียบในสมัยนี้ -ขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ รัฐบาลกับไม่ซื้อฉีดให้ประชาชนก็ว่าแย่แล้ว และรัฐบาลยังกีดกันโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้เปิดจอง ไม่ให้นำเข้าโดยมีอุปสรรคเรื่อง อย. สุดท้ายทนเสียงวิจารณ์ไม่ไหวก็ต้องมาวิ่งร่อนซื้อหากัน ซึ่งแพร่กระจายไประลอกที่ 3 แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นอันดับ 6 ในอาเซียน อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ อันดับ 2 คือกัมพูชา เดี๋ยวนี้เราบริหารจัดการวัคซีนแย่กว่ากัมพูชา แย่กว่ามาเลเซีย แย่กว่าอินโดนีเซียแล้ว นี่หรือคือประสิทธิภาพที่เราคาดหวังจากรัฐบาลว่าจะดีกว่ารัฐบาลการรัฐประหาร.
สิ่งที่ผมเล่ามาถ้าหากใครยังสงสัยว่าการรัฐประหารทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลองขนาดไหน ตนขออนุญาตยกตัวอย่างอีกที่หนึ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากของประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐประหารและทำให้ประเทศตกหล่มจนไม่ได้ฟื้นกลับคืนมา ก่อนหน้านี้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เคยก้าวหน้าในทศวรรษ 1960 เพราะว่ามีระบบการศึกษาที่อเมริกาวางรากฐานเอาไว้ให้ ประชาชนพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เพราะการรัฐประหารโดยเฟอร์ดินาน มาร์กอส ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น กู้เงินจากต่างประเทศมาก็ไม่นำมาใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งนำมาใช้กับพวกพ้องตัวเองและสุดท้ายถูกประชาชนขับไล่ ผมอยากจะบอกว่าแค่ประชาชนขับไล่ยังไม่พอ การที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ไม่ดี ทำให้เป็นประเทศที่ไม่อยากมีใครลงทุน จนถึงทุกวันนี้ประเทศฟิลิปปินส์จึงกลายเป็นประเทศที่ลำบากมาก ซึ่งจะมาฟื้นหลังจากที่ยุติการรัฐประหาร จากการที่มีการเลือกตั้งบ่อย ๆ ก็เมื่อ 10 ปีหลังนี้เอง ผมเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ซ้ำรอยฟิลิปปินส์ เพราะมันมีสัญญาณที่น่าห่วงมากกับอนาคตสังคมไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการที่คนรุ่นใหม่เริ่มพูดถึงการย้ายประเทศ ตนเป็นอาจารย์ ตนถามอาจารย์ชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบ บอกว่าเรื่องการย้ายประเทศเป็นการพูดเล่นหรือพูดจริง นักศึกษาตอบว่าพูดจริง พวกเขากำลังขวนขวายหาข้อมูลการเรียนต่อต่างประเทศได้อย่างไร.
การที่คนหนุ่มสาวอยากย้ายประเทศ ปรากฏการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศฟิลิปปินส์มาก่อน ทุกวันนี้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประชาชนหมดหวังกับประเทศของตัวเอง คนในฟิลิปปินส์ต่างดิ้นรนออกไปหางานทำต่างประเทศ ถึงขนาดที่ว่าคนทำงานเป็นหมอในฟิลิปปินส์ยอมไปเป็นพยาบาลในอเมริกายังดีกว่า คนจบปริญญาตรีเป็นครูก็ไปอบรมเป็นCaretaker ไปดูแลผู้สูงอายุในอิตาลี ในสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ประเทศฟิลิปปินส์จึงกลายเป็นประเทศที่มีแรงงานส่งออกไปทำงานนอกประเทศมากที่สุด การที่คนหนุ่มสาวคนไทยขวนขวายออกเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นกลุ่มใหญ่แบบนี้ เป็นภาพสะท้อนการถดถอยและความสิ้นหวังของประเทศ.
ท่านที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารปี 2557 หากท่านห่วงใยประเทศนี้ ห่วงใจสังคมนี้จริง โปรดเปิดใจพิจารณาว่าสังคมทุกวันนี้เป็นไปตามที่พวกท่านคาดหวังจริงหรือ หากท่านตระหนักว่านี่ไม่ใช่ทิศทางในการปฏิบัติ ผมคิดว่าท่านต้องแสดงมากกว่านี้ว่าเราต้องร่วมกันหยุดการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช..
เราเป็นกลุ่มผู้รักประชาธิปไตย แต่เราจะเอาชนะในการเคลื่อนไหวต่อสู้ครั้งนี้ได้ ลำพังถ้าเรายังแบ่งเป็นฝักฝ่าย เราไม่อาจจะชนะได้ ผมอยากจะเชิญชวนว่า ไม่ว่าจะเป็นประชาชนจะใส่เคยเสื้อสีใด หรือ ไม่ว่าท่านจะมีท่าทีใด ๆ ต่อการรัฐประหาร จะเชียร์เต็มตัว หรือ จะอยู่เฉย ๆ สำหรับผม ผมคิดว่าอดีตเป็นบทเรียน อนาคตคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องสร้าง สิ่งที่เราจำเป็นต้องสร้าง ณ ที่นี้ก็คือว่า เราต้องทำให้ทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าเราปล่อยให้สังคมเดินไปในทิศทางแบบนี้ไม่ได้ เราต้องให้คนทั้งสังคมร่วมกันตกผลึกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับนี้ต้องแก้ไขเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต้องรื้อฟื้นบรรยากาศการปฏิรูปการเมืองสมัยปี 2540 ที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันว่ามันปล่อยให้ประเทศนี้เป็นแบบนี้ไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมกัน.
ผมอยากจะเชิญชวนให้กลุ่มพลังทางสังคม กลุ่มวิชาชีพที่ท่านเคยตื่นตัวแข็งขันในการขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยขัดขวางการเลือกตั้งแบบไม่รู้เหน็ดไม่รู้เหนื่อย ท่านต้องออกมาแสดงตัวอีกครั้งว่าท่านพอแล้วกับระบอบประยุทธ์ หากท่านตะขิดตะขวงใจไม่อยากมาร่วมขบวนการนี้ เพราะเห็นดูแล้วว่าสงสัยเป็นเสื้อแดงหรือเปล่า ท่านไปตั้งขบวนเองก็ได้ ใครก็ได้กลุ่มไหนก็ได้ขอให้มีเป้าหมายเดียวกัน ประชาชนมีหลายสาย หลายขวนการ แต่ขอให้มีเป้าหมายร่วมกันก็คือการยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. และต้องร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ.
กิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมจุดไฟให้ดาว ตนขอกล่าวสรุปดังนี้ ท่านให้ผมฝัน แน่นอนว่าผมย่อมฝันถึงอนาคต เราไม่อาจหวนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ เราไม่สามารถแก้ไขอดีตแต่เราสามารถฝันถึงอนาคตได้ ความฝันของผมก็คือ ผมฝันเห็นประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกภาค ทุกสาขาอาชีพ ครูบาอาจารย์ แพทย์ พยาบาล ทนายความ นักบัญชี สมาคมหอการค้า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสลัมหรืออยู่บ้านจัดสรรหรูหราขนาดไหน ไม่ว่าคุณนั่งรถเก๋งหลักล้าน โดยสารรถเมล์หรือขี่ซาเล้ง ถ้าคนทั้งสังคมพูดและแสดงออกพร้อมกันว่า เราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. อยากได้กติกาบ้านเมืองใหม่ที่เป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม ให้ใครที่อาสาเข้ามาบริหารบ้านเมือง ใครที่มีความสามารถให้ลงแข่งขันในกติกาที่เป็นธรรม และเข้าสู่อำนาจก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยกลไกที่เป็นธรรมไม่ใช่สองมาตรฐาน ยุทธวิธีข้อเสนอของผมก็คือว่าเราจำเป็นต้องโดดเดี่ยวกับคนที่เกาะ คสช. ให้หลวมน้อยที่สุด สร้างมิตรฝ่ายประชาธิปไตยให้มากที่สุด ท่านทั้งหลายครับ เราไม่อาจส่งมอบสังคมที่ไร้ความหวังให้กับลูกหลาน เราจำเป็นต้องหันมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือการหันทิศทางของประเทศมาสู่ประชาธิปไตย 7 ปีของความถดถอยยังไม่สายสำหรับการกลับตัวใหม่ ขอบคุณครับ.
///////////////////////////////////////////
ณัฐพงศ์ มาลี สำนักข่าวราษฎร รวบรวมและเรียบเรียง

