ข่าว

ครป.คัดค้านยุบพรรคก้าวไกล


ใบแถลงข่าวคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 มีมติเอกฉันท์เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยก่อนที่ประชุม กกต. มีมติดังกล่าว ได้มีการพิจารณาผลการศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ในกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล เสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยศาลสั่งให้เลิกการกระทำการแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และไม่ให้แก้มาตรา 112

ทั้งนี้ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนิน การตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 92 โดยใช้คำว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครอง ให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเรื่องดังกล่าวใช้เวลาพอสมควร โดยสิ่งที่เป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง มีทั้งรายละเอียด ข้อกฎหมายข้อเท็จจริง พร้อมทั้งพยานหลักฐานและเอกสารประกอบ มีคำไต่สวนการให้ถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้อง เป็นหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ กกต.สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเด็นนี้มาโดยตลอด เห็นว่า

1. การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เกิดขึ้นก่อนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะในช่วงการหาเสียง พรรคก้าวไกลก็ได้นำเสนอนโยบายการหาเสียง ที่ กกต. รับทราบมาโดยตลอดโดยไม่ได้มีการทักท้วงแต่ประการใด (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 74 การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กําหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมือง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกอบมาตรา 80 ที่กำหนดว่า เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร และพรรคการ เมือง) ที่ผ่านมา กกต. มิได้ดำเนินการใดๆ ต่อแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล และการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม

2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำวินิจฉัย เพื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ได้มีการดำเนินการ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

3. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ด้วยเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นบรรทัดฐานให้สังคม จึงต้องมีคำอธิบายอย่างกระจ่างชัดจนหมดสิ้นข้อสงสัย มิใช่เป็นคำอธิบายที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งทั่วไปในหมู่นักวิชาการจนขาดความเชื่อถือยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ตาม ครป. เห็นว่า คำวินิจฉัยนั้นเป็นการวินิจฉัยการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อหยุดยั้งการกระทำในอนาคต จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ที่กกต. จะหยิบยกการกระทำในอดีตที่ยังไม่ได้มีการชี้ชัดว่าผิดกฎหมาย มาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในขณะนี้

4. กฎหมายมีบทบัญญัติให้มีการยุบพรรค การเมืองได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายควรกระทำอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่พึงนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ด้วยพรรคการเมืองนั้นเป็นสถาบันหลักของประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเป็นฐาน ดังที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ให้ประชาชนใช้อำนาจด้วยการเลือกตั้งผู้แทนที่มาจากพรรคการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นของประชาชน การที่กฎหมายให้อำนาจคณะบุคคลในการยุบพรรคการเมือง จึงย้อนแย้งและขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจในการยุบพรรคการเมืองได้นั้น ควรเป็นอำนาจของประชาชนเท่านั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอนำเสนอความเห็นดังกล่าวต่อสาธารณชน ให้พิจารณาและร่วมกันแสดงความเห็นคัดค้านการยุบพรรคการเมือง ที่มิใช่วิถีที่พึงเป็นวัฒนธรรมของประชาธิปไตย

14 มีนาคม 2567

นส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)